กรุงเทพฯ 25 พ.ย. – บีโอไอหนุนการลงทุน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ไฟเขียว 2 กิจการ โรงแรมและผลิตภัณฑ์จากมะพร้าว เงินลงทุนกว่า 600 ล้านบาท
นายเศกสรรค์ เรืองโวหาร ที่ปรึกษาด้านการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ บีโอไอได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนแก่กิจการโรงแรมและกิจการผลิตผลิตภัณฑ์จากมะพร้าว โดยทั้ง 2 กิจการตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายตามนโยบายส่งเสริมการลงทุนภายใต้โครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ของรัฐบาลที่มุ่งสร้างงานสร้างรายได้ รวมถึงยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้
“รัฐบาลมีนโยบายโครงการเมืองต้นแบบในพื้นที่ 3 อำเภอ ใน 3 จังหวัด คือ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี อ.เบตง จ.ยะลา และ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส บีโอไอจึงให้สิทธิประโยชน์เป็นพิเศษมากกว่าการลงทุนชายแดนใต้ปกติ การลงทุนของทั้ง 2 กิจการครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนเห็นถึงศักยภาพของพื้นที่ช่วยสร้างความมั่นใจแก่นักลงทุนรายอื่นให้ตัดสินใจเข้ามาลงทุนต่อไป” นายเศกสรรค์ กล่าว
ทั้งนี้ กิจการโรงแรมเป็นของกลุ่มนักลงทุนจากมาเลเซีย เงินลงทุน 120 ล้านบาท เป็นโรงแรมแบบทันสมัยสำหรับกลุ่มลูกค้าที่เป็นครอบครัว หรือกลุ่มที่เข้าพักเพื่อประชุม สัมมนา ซึ่งนอกจากจะช่วยสนับสนุนการท่องเที่ยวในพื้นที่แล้ว ยังก่อให้เกิดรายได้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น ธุรกิจร้านอาหาร ของที่ระลึก ขนส่ง รวมถึงก่อให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ด้วย
สำหรับกิจการผลิตผลิตภัณฑ์จากมะพร้าว เป็นโครงการลงทุนของบริษัท หนองจิกพัฒนา จำกัด โดยจะผลิตน้ำกะทิ น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น ผลิตภัณฑ์น้ำมะพร้าว รวมถึงใช้ประโยชน์จากกะลามะพร้าว ผิวมะพร้าว กากมะพร้าว และใยมะพร้าว เป็นต้น เงินลงทุนรวม 500 ล้านบาท โครงการนี้จะผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออกไปต่างประเทศ เช่น จีน อเมริกา และยุโรป ซึ่งปัจจุบันมีกลุ่มผู้แพ้นมวัว หรือกลุ่มผู้บริโภคนมจากพืชที่เป็นออร์แกนิคหันมาให้ความสนใจบริโภคน้ำกะทิกันมากขึ้น โดยวัตถุดิบที่เป็นมะพร้าวผลและเนื้อมะพร้าว โครงการจะรับซื้อจากชุมชนในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง คาดว่าจะช่วยให้เกิดการกระจายรายได้แก่เกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวได้ไม่น้อยกว่าปีละ 500 ล้านบาท
นายเศกสรรค์ กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งภายใต้นโยบายของบีโอไอ ประกอบด้วย 2 มาตรการ คือ 1.มาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ครอบคลุม 4 จังหวัดชายแดนใต้ และ 4 อำเภอใน จ.สงขลา และ 2.มาตรการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ครอบคลุมพื้นที่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี อ.เบตง จ.ยะลา และ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ทั้ง 2 มาตรการจะได้รับสิทธิและประโยชน์ เช่น ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 8 ปี ไม่จำกัดวงเงิน และลดหย่อนร้อยละ 50 เพิ่มเติมอีก 5 ปี ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร เป็นต้น แต่หากลงทุนในพื้นที่เมืองต้นแบบจะได้รับสิทธิประโยชน์มากกว่าการลงทุนตามมาตรการชายแดนใต้ เช่น ยกเว้นอากรขาเข้าวัตถุดิบที่ผลิตเพื่อส่งออกเพิ่มขึ้นเป็น 10 ปี จากปกติ 5 ปี เป็นต้น ทั้งนี้ นักลงทุนสามารถยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้ง 2 มาตรการได้ภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2563
นอกจากนี้ การส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในพื้นที่ชายแดนใต้ยังมีความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน เพื่อให้เกิดการพัฒนาพื้นที่ทั้งระบบ อาทิ สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา ซึ่งล่าสุดได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานการผลิต และพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ครอบคลุมทั้ง3 พื้นที่โครงการเมืองต้นแบบ เพื่อทำหน้าที่ให้บริการเบ็ดเสร็จด้านกำลังคนโดยมี 2 กลุ่ม เป้าหมาย คือ กลุ่มนักลงทุนที่ต้องการแรงงานในพื้นที่ และกลุ่มแรงงานที่ต้องการฝึกอบรม ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากรให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคการผลิต.-สำนักข่าวไทย