กรุงเทพฯ 24 พ.ย. – กรมชลประทานขอความร่วมมือผู้ใช้น้ำ จัดรอบเวรสูบน้ำและการใช้น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลดเสี่ยงขาดน้ำในอนาคต
นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า การบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยานอกเหนือจากการส่งน้ำตามปกติผ่านระบบชลประทานแล้ว ยังมีการสูบใช้น้ำของสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าและการใช้น้ำของอาคารเชื่อมต่อแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของแม่น้ำเจ้าพระยาที่ดูแลโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและองค์การบริหารส่วนจังหวัด หากทำการสูบน้ำและรับน้ำพร้อมกันจะทำให้น้ำตามจุดต่าง ๆ ไม่เป็นไปตามแผนที่กำหนด ซึ่งจะส่งผลต่อปริมาณน้ำต้นทุนต้นฤดูฝนปี 2562 ประกอบกับต้องวางแผนเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าช่วงเดือนธันวาคม 2561 ไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2562 มีโอกาสที่จะเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความแห้งแล้งขึ้นได้
ทั้งนี้ กรมชลประทานจึงขอความร่วมมือจากเกษตรกร กลุ่มผู้ใช้น้ำ และพี่น้องประชาชน เข้าร่วมจัดรอบเวรการสูบน้ำของสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าและการใช้น้ำของอาคารเชื่อมต่อแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตามข้อตกลงและความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ โดยเน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน อาทิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดในเขตลุ่มเจ้าพระยา 7 จังหวัด องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำและการใช้น้ำเป็นไปตามแผนที่ได้วางไว้ตลอดช่วงฤดูแล้งปี 2561/2562 อีกทั้งยังเป็นการสำรองน้ำไว้ใช้ในอนาคตอย่างไม่ขาดแคลนด้วย
ส่วนฤดูแล้งปี 2561/2562 ของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2562 กรมชลประทานวางแผนการบริหารจัดการน้ำจาก 4 เขื่อนหลัก ประกอบด้วย เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ที่มีปริมาณน้ำใช้การได้ ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 รวม 12,840 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยวางแผนจัดสรรน้ำจากเขื่อนทั้ง 4 แห่ง และผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลอง รวม 8,000 ล้านลูกบาศก์เมตร แยกเป็นเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ รวม 6,500 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน 400 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 400 ล้านลูกบาศก์เมตร และผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลอง 700 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยจะสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝน ระหว่างเดือนพฤษภาคม 2561 ถึงเดือนกรกฎาคม 2561 จำนวน 5,540 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบัน (23 พ.ย. 61) ลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการใช้น้ำ 769 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 10 ของแผนจัดสรรน้ำฤดูแล้ง คงเหลือปริมาณน้ำใช้การได้ 7,231 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 90 ของแผนจัดสรรน้ำฤดูแล้ง.-สำนักข่าวไทย