สปส. 21 พ.ย.- ข่าวดีสำหรับลูกจ้างส่วนราชการกว่า 1 ล้านคนทั่วประเทศ ได้รับสิทธิตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน ฉบับใหม่ ทันทีที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่ 9 ธ.ค.นี้
นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงความสำคัญของพระราชบัญญัติเงินทดแทน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561 ว่า ทันทีที่กฎหมายว่าด้วยกองทุนเงินทดแทนฉบับนี้ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2561 เป็นต้นไป จะส่งผลให้ลูกจ้างส่วนราชการทั้งประเทศกว่า 1 ล้านคน ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายนี้ ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างประเภทสัญญารายปี หรือสัญญาจ้างเหมา เช่น พนักงานกวาดถนน พนักงานเก็บขยะ ซึ่งเป็นลูกจ้างของกรุงเทพมหานคร (กทม.) รวมทั้งลูกจ้างของกิจการที่มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไรทางเศรษฐกิจด้วย เช่น องค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ จากเดิมที่ลูกจ้างเหล่านี้ไม่เคยได้รับสิทธิประโยชน์ค่าทดแทนจากกองทุนเงินทดแทน กรณีประสบอันตราย เจ็บป่วย สูญหายหรือตาย อันเนื่องมาจากการทำงานให้นายจ้าง
นายอนันต์ชัย กล่าวต่อไปว่า กฎหมายใหม่ยังเพิ่มเงินทดแทนให้ลูกจ้าง จากร้อยละ 60 เป็นร้อยละ70 ของค่าจ้างรายเดือน โดยกรณีลูกจ้างไม่สามารถทำงานได้และมีใบรับรองแพทย์ให้หยุดงาน ก็สามารถเบิกค่าทดแทนหยุดงานได้ตั้งแต่ 1 วันขึ้นไป แต่สูงสุดไม่เกิน 1 ปี สำหรับกรณีลูกจ้างทุพพลภาพจะได้รับค่าทดแทนไม่น้อยกว่า 15 ปี หรือกรณีลูกจ้างถึงแก่ความตายหรือสูญหาย ทายาทก็จะได้รับค่าทดแทนมีกำหนด 10 ปี นอกจากนี้ยังได้เพิ่มค่าทำศพแก่ผู้จัดการศพของลูกจ้าง จำนวน 40,000 บาท
ส่วนประโยชน์ที่นายจ้างได้รับจาก พ.ร.บ.เงินทดแทน ฉบับใหม่ รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีอำนาจลดการจ่ายเงินเพิ่มในท้องที่ที่ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ ประสบภัยพิบัติ หรือมีสถานการณ์พิเศษอย่างอื่นได้ และปรับลดเงินเพิ่มหรือเบี้ยปรับจากเดิมร้อยละ 3 ต่อเดือน ลดลงเหลือร้อยละ 2 ต่อเดือน และกำหนดให้จำนวนเงินเพิ่มต้องไม่เกินจำนวนเงินสมทบที่นายจ้างต้องจ่าย ดังนั้น นายจ้างจึงไม่ต้องกังวลว่าจะต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนเงินทดแทนเพิ่มจากเดิมแต่อย่างใด
ขณะเดียวกัน ยังอำนวยความสะดวกโดยเพิ่มช่องทางให้นายจ้างสามารถยื่นแบบรายการขึ้นทะเบียนนายจ้าง และจ่ายเงินสมทบ แจ้งการประสบอันตราย เจ็บป่วย หรือสูญหาย ผ่านทางสำนักงาน หน่วยบริการ ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น.-สำนักข่าวไทย