กทม. 19 พ.ย.- เจาะลึกต้นทุนรถโดยสารใน กทม. หลังคมนาคมไฟเขียวรถร่วม ขสมก. ปรับขึ้นค่าโดยสาร
วันนี้(19พ.ย.)ผู้ประกอบการรถเมล์โดยสารร่วมบริการของ ขสมก. ทั้ง 2 สมาคม ได้เดินทางเข้าพบนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อยื่นสำเนาหนังสือข้อเรียกร้อง ขอปรับราคาค่าโดยสารที่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ซึ่งหนังสือเรียนถึงนายกรัฐมนตรี ก่อนที่จะมีการหารือร่วมกัน ระหว่างผู้ประกอบการรถร่วม ที่วันนี้มารอฟังผลหลายร้อยคน โดยมีผู้บริหารกรมการขนส่งทางบก ขสมก. เข้าร่วม
สำหรับข้อเรียกร้องผู้ประกอบการ 3 ข้อ คือ 1 ขอปรับราคารถร้อน 9 บาท เป็น 12 บาท รถปรับอากาศขึ้นระยะละ 2 บาท จากเริ่มต้น 13 บาท เป็น 15 บาท ขณะที่รถใหม่ ที่ผู้ประกอบการจะจัดซื้อ โดยมีการยกระดับมาตรฐาน มีระบบจัดเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติ หรืออี-ทิกเก็ต ขอคิดในอัตรา 20 ถึง 25 บาท ตลอดสาย
การประชุมแล้วเสร็จนายอาคม เปิดแถลงข่าว ยอมรับว่า ปัจจัยในการลอยตัวค่าก๊าซ ซึ่งแม้ว่าภาครัฐจะมีการชดเชยให้ แต่ก็ทำให้ผู้ประกอบการ รถร่วม ขสมก. ต้องแบกรับภาระอยู่ รวมทั้งภาครัฐก็ไม่ได้อนุมัติให้ผู้ประกอบการปรับราคามาตั้งแต่ปี 2558 เมื่อพิจารณาแล้วจึงได้สั่งการ ให้คณะกรรมการควบคุมขนส่งทางบกกลาง นำข้อเรียกร้องไปพิจารณา โดยหากมีการปรับขึ้นค่าโดยสาร ก็ให้พิจารณาว่าจะให้ปรับขึ้นเท่าใด โดยยังไม่สามารถรับปากได้ว่า จะปรับตามข้อเรียกร้องของผู้ประกอบการ ซึ่งการประชุมคณะกรรมการฯวาระดังกล่าว จะมีขึ้นในกลางเดือนธันวาคมนี้
หลายคนมีข้อสงสัยว่า ข้อเรียกร้อง ของผู้ประกอบการ ซึ่งมีการอ้างผลการศึกษาต้นทุนนี้มาจากไหน ก่อนหน้านี้ กรมการขนส่งทางบก ได้มอบให้ ทีดีอาร์ไอ ร่วมสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ทำการศึกษาแต่ต้องบอกก่อนว่า ผลศึกษาดังกล่าวจะครอบคลุมประเด็นทั้งหมดในการพัฒนาบริการรถโดยสาร ทั้งต้นทุน การปฏิรูปการเดินรถ การนำเทคโนโลยีมาใช้ การปรับปรุงเส้นทางรถเมล์ทั้งหมดด้วย ส่วนต้นทุนค่าเฉลี่ย ที่คำนวนจากรถโดยสาร เชื้อเพลิงเอ็นจีวี ที่มี 70% ของรถโดยสารทั้งหมด ข้อมูลของกรมการขนส่งทางบกระบุว่า ผลศึกษาค่าเฉลี่ยต้นทุนของผู้ประกอบการ จะอยู่ ที่ 13 บาท 73 สตางค์ ส่วนข้อมูลของทีดีอาร์ไอ ซึ่งร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เริ่มจากรถร้อน ซึ่งปัจจุบันผู้ประกอบการรถร่วมบริการ เอกชนเก็บอยู่ที่ 9 บาท ผลศึกษาระบุว่า ราคาที่น่าจะเป็น ตามต้นทุน คือ 12 บาท ส่วนรถปรับอากาศ ที่ปัจจุบัน ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 13 บาท ผลศึกษาราคาที่น่าจะเป็น จะบวกเข้าไปอีก 1-2 บาท
แต่ทีดีอาร์ไอย้ำเลยว่า การขาดทุนของผู้ประกอบการช่วงที่ผ่านมา ไม่ได้มาจากการเก็บค่าโดยสารไม่สะท้อนต้นทุนอย่างเดียว ยังรวมถึงปัญหาเส้นทางรถเมล์ทับซ้อนด้วย บริการที่แย่ ไม่ดึงดูดให้ผู้โดยสารมาใช้ ดังนั้น สิ่งสำคัญเร่งด่วน จำเป็นต้องปฏิรูปเส้นทางเดินรถทั้งหมด ส่วนในเดือนธันวาคมนี้ คณะกรรมการควบคุมขนส่งทางบกกลาง จะอนุมัติปรับขึ้นค่าโดยสารหรือไม่ขึ้นเท่าใดไปติดตามกัน.-สำนักข่าวไทย