กรุงเทพฯ 14 พ.ย. – ออมสินหนุนเครือข่ายองค์กรการเงินชุมชน 4 ภูมิภาค ปี 2561 พัฒนาระบบซื้อขายสินค้าสู่ระบบ E-Commerce ขณะที่คลังเตรียมช่วยเหลือผู้สูงอายุถือบัตรสวัสดิการ ผู้ป่วยติดเตียง ลดภาระค่าเช่าบ้านไม่มีบุตรหลานดูแล
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี บรรยายในหัวข้อ “พระราชบัญญัติสถาบันการเงินประชาชน พ.ศ……” สถาบันการเงินชุมชนเป็นหลักฐานสำคัญของชุมชน เมื่อมีกฎหมายออกมารองรับ ยืนยันรัฐบาลไม่ปิดกองทุนหมู่บ้าน เพราะต้องส่งเงินเข้ากองทุน เพื่อส่งเสริมทุนหมุนเวียนในชุมชน และยังต้องการส่งเสริมการตั้งสถาบันการเงินชุมชนให้มีความเข้มแข็ง เพื่อให้เงินของชาวบ้านพึ่งพากันเองในพื้นที่
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า การสานสัมพันธ์เครือข่ายองค์กรการเงินชุมชน 4 ภูมิภาค จัดขึ้นตั้งแต่ปี 2553 เพื่อความร่วมมือของพันธมิตรทุกภาคส่วน เครือข่ายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง องค์กรการเงินชุมชน เพราะปัจจุบันเป็นยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง ทุกคนต้องปรับตัว โดยเฉพาะการมีเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น ออมสินพร้อมให้บริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ “บริการธนาคารชุมชน” พัฒนาไปสู่บริการ MyMo Mobile Banking โดยพัฒนาระบบการซื้อขายสินค้าสู่ระบบ E-Commerce หรือ Online แบบครบวงจร ภายใต้โครงการพัฒนาชุมชนและส่งเสริม E-Commerce ให้แก่ ร้านค้าโชห่วย กองทุนหมู่บ้านฯ ตลอดจนสินค้าโอทอป ผ่าน O2O E-Commerce Platform ลักษณะ Application บนโทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟน Tablet และ/หรือ POS เพื่อให้ผู้ซื้อและผู้ขายสามารถสั่งซื้อสินค้าได้สะดวก โดยใช้ชื่อว่า O2O Village Grocery sponsored by GSB การให้ความรู้เรื่องหนี้นอกระบบ และความรู้เกี่ยวกับสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ เป็นเหมือนกับการรีไฟแนนซ์หนี้นอกระบบให้มาอยู่ในระบบ ให้กู้วงเงิน 50,000 บาทต่อราย ด้วยอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 36 ต่อปี ส่วนผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระ เรื่องการออมถือเป็นเรื่องสำคัญ จึงเชิญสมัครสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เพื่อสร้างความยั่งยืนภายหลังเกษียณอายุ
นางสาวนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้ออกแบบนโยบายแก้ปัญหาผ่านโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐตั้งแต่ปี 2559 ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มุ่งลดความเหลื่อมล้ำ เริ่มจากการอัดฉีดเม็ดเงินให้มีการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน 11.4 ล้านคน นับว่ามีผู้สูงอายุถึง 3.9 ล้านคน เป็นผู้พิการ 370,000 คน และเป็นผู้ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไปกว่า 3 ล้านคน นับว่ามีเงินในบัญชีน้อยกว่า 5,000 บาท สัดส่วนถึงร้อยละ 90 จึงเตรียมให้การช่วยเหลือค่าเช่าบ้าน สำหรับผู้สูงอายุที่ไม่มีบุตรดูแลและที่พักอาศัยเป็นของตนเอง นอกจากนี้ การฝึกอบรมให้กับผู้ที่มาลงทะเบียน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการฝึกอาชีพ มุ่งให้ออกไปดูแลผู้ป่วยติดเตียงที่อยู่ภายใต้โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อรับค่าตอบแทนตามเกณฑ์ตามเกณฑ์ค่าแรงขั้นต่ำ
หลังจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พบว่า ตั้งแต่ปี 2531 สัดส่วนคนจนมีร้อยละ 65 มีรายได้ต่ำกว่า 879 บาทต่อเดือน จากนั้นผ่านมา 30 ปี ในปี 2559 ยอดคนจนเหลือเพียงร้อยละ 8.6 นับว่าชาวบ้านมีรายได้น้อยที่ต่ำกว่าเดือนละ 2,600 บาทต่อเดือน และปี 2560 คนจนลดลงมาเหลือร้อยละ 7 ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มไม่ได้รับการศึกษาในระบบ ขาดโอกาสทางสังคม ประกอบอาชีพเกษตรกรรม มีปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน และขาดสวัสดิการในการใช้ชีวิต แต่ความเหลื่อมล้ำยังสูงอยู่ สัดส่วนรายได้ของคนรวยกับคนจนยังห่างกันถึง 22 เท่า อีกทั้งการถือครองที่ดินของคนจนยังน้อยกว่าคนรวยถึง 888 เท่า หากเทียบบัญชีเงินฝากจากธนาคารทั้งระบบ บัญชีเงินออมเกิน 10 ล้านบาท เพียงแค่ร้อยละ 0.1 ที่เหลือกลับมีไม่ถึง ทั้งหมดนี้เป็นภาพที่สะท้อนกลับมาว่าความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยมีปัญหาต้องเร่งแก้ไข.-สำนักข่าวไทย