เชียงใหม่ 13 พ.ย. – ช่วงกลางปีที่ผ่านมา รัฐบาลไฟเขียวให้สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) มอบที่ดินทำกิน นำร่อง 5 ชุมชนในพื้นที่ จ.เชียงใหม่-ลำพูน หวังจัดตั้งธนาคารที่ดิน ลดความเหลื่อมล้ำให้กับเกษตรกร ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ ชุมชนบ้านโป่ง กลับยังพบปัญหาการกว้านซื้อที่ดินจากกลุ่มนายทุน
“ลุงบิน” วัย 59 ปี ชาวบ้านโป่ง อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ บุกเบิกฟูมฟัก ฟื้นฟูหน้าดิน เปลี่ยนที่รกร้างกว่า 2 ไร่ กลายเป็นที่ดินทำกิน ปลูกพืชผักสารพัด สร้างรายได้เลี้ยงครอบครัว ตั้งแต่ปี 2545 ผ่านมากว่า 15 ปี “ลุงบิน” ต้องตกใจ เมื่อมีป้ายประกาศแสดงสิทธิว่า ที่ดินแปลงนี้เป็นของโรงเรียนแห่งหนึ่งใน อ.ดอยสะเก็ด ซึ่งอยู่ห่างออกไปกว่า 60 กิโลเมตร
ปัญหาที่ดินบ้านโป่งเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง แกนนำกลุ่มปฏิรูปที่ดินชุมชน สะท้อนว่า ที่ดินส่วนใหญ่ถูกกลุ่มนายทุนกว้านซื้อ ทิ้งร้าง ไม่ทำประโยชน์นานกว่า 10 ปี แต่ไม่เคยถูกเพิกถอนเอกสารสิทธิตามกฎหมาย ชาวบ้านในพื้นที่จึงได้เข้าไปทำกินกว่า 300 ไร่ ภายใต้สิทธิ “โฉนดชุมชน” และยังคงต่อสู้รักษาสิทธิที่ทำกิน เพื่อความอยู่รอดของชุมชน
สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) เข้ามาแก้ปัญหาที่ดินบ้านโป่ง 1 ใน 5 พื้นที่นำร่อง เพื่อให้ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์ต่อไป โดยซื้อที่ดินจากเอกชนมาจัดสรรให้ชุมชนเช่าซื้อแบบถือกรรมสิทธิ์ร่วม แต่พบอุปสรรค ราคาที่ดินบางแปลงสูงเกินจริง อาจแบกรับภาระดอกเบี้ยไม่ไหว
ความพยายามในการแก้ปัญหาที่ดินทำกินให้กับชุมชนบ้านโป่ง ยังคงดำเนินต่อเนื่อง ภายใต้โครงการธนาคารที่ดิน แม้ว่ายังพบปัญหาเจ้าของที่ไม่ยอมขายที่ดินให้รัฐไปจัดสรรตามกระบวนการ โดยภาพรวมขณะนี้จัดซื้อที่ดินได้แล้วกว่าร้อยละ 80 จากเป้าที่ตั้งไว้กว่า 800 ไร่ ทั้งในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ และลำพูน หวังแก้ปัญหาให้กับชาวบ้าน 490 ครัวเรือน ได้ใช้ประโยชน์จากที่ดินอย่างเป็นธรรม. – สำนักข่าวไทย