กทม. 5 พ.ย.–ไทยเจ้าภาพจัดประชุมด้านความปลอดภัยระดับโลก ครั้งที่ 13 ระดมสมองผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการทั่วโลก รับมือและแก้ปัญหา เจ็บตาย จากอุบัติเหตุทางถนน และความไม่ปลอดภัยในชีวิต
วันนี้(5 พ.ย.) ประเทศไทย ภายใต้ความร่วมมือของ 4 หน่วยงานหลัก คือ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัด “งานประชุมระดับโลกว่าด้วยการป้องกันการบาดเจ็บและส่งเสริมความปลอดภัยครั้งที่ 13 (Safety 2018 : World Conference on injury Prevention and Safety Promotion) ระหว่างวันที่ 5-7 พฤศจิกายน 2561 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค (BITEC) บางนา ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทย และเป็นประเทศที่ 2ของภูมิภาคเอเชียที่ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมต่อจากประเทศฟินแลนด์ ที่เป็นเจ้าภาพ จัดการประชุมครั้งที่ 12 เมื่อปี 2559
การประชุมความปลอดภัยระดับโลกจะเน้นหนักในสาระงานด้านการส่งเสริมความปลอดภัยและการป้องกันการบาดเจ็บในทุกรูปแบบ ทั้งจากอุบัติเหตุบนท้องถนน ความรุนแรงในกลุ่มเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ กลุ่มเสี่ยงหรือผู้ด้อยโอกาส พร้อมทั้งยังเป็นเวทีในการนำเสนอข้อมูลองค์ความรู้ การแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการและนำเสนอผลความก้าวหน้าในการดำเนินงานด้านการป้องกันการบาดเจ็บและส่งเสริมความปลอดภัยของเหล่านักวิชาการ จากต่างประเทศทั่วโลก ซึ่งถือเป็นโอกาสสำคัญของประเทศไทย ที่จะได้เรียนรู้ การแก้ปัญหาด้านต่างๆ จากทั่วทุกมุมโลก เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายป้องกันและแก้ปัญหาการเกิดอุบัติเหตุ การบาดเจ็บและส่งเสริมความปลอดภัย เพื่อให้ประชากรทุกประเทศอยู่อย่างมีความสุข มีความเข้มแข็ง มีสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นอันตราย ทั้งในระดับปัจเจก ครอบครัว ชุมชน สังคม ประเทศ และระดับประชาคมโลกอย่างยั่งยืน ตามเป้าหมายของ องค์การอนามัยโลก
นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือขององค์การอนามัยโลก ด้านการป้องกันอุบัติเหตุ เปิดเผยว่า ปัญหาความรุนแรงและการบาดเจ็บ ถือเป็นประเด็นสำคัญที่ทุกประเทศทั่วโลกต่างเร่งดำเนินการ เพื่อวางมาตรการและนโยบายต่างๆ ในการลดความสูญเสีย โดยเฉพาะในเรื่องอุบัติเหตุทางถนนเป็นประเด็นที่ประเทศไทยให้ความตระหนักเพราะไทยเกิดอุบัติเหตุและความสูญเสียต่อเนื่อง ล่าสุดถูกจัดอันดับประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน สูงเป็นอันดับ2 ของโลกและมีแนวโน้มขึ้นเป็นอันดับ 1 รวมถึงประเด็นการบังคับใช้กฎหมายที่ต้องเข้มข้นมากขึ้นและการจัดตั้งองค์กรกลางทำหน้าที่ประสานหน่วยงานต่างๆที่ดูแลด้านความปลอดภัย อุบัติเหตุและการบาดเจ็บ เข้าด้วยกัน เพื่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญที่ไทยต้องนำตัวอย่างความสำเร็จของนานาประเทศมาปรับใช้เพื่อลดความสูญเสียให้ลดลง .-สำนักข่าวไทย