กทม.5 พ.ย.-เปิดสถิติความรุนแรงในครอบครัวและต่อสตรีของไทย ยังติดอันดับ 1ใน 10ของโลก สำรวจพบมีความรุนแรงถึงสูงร้อยละ34 ส่วนใหญ่ถูกทำร้ายจิตใจ ร่างกาย และรุนแรงถึงขั้นชีวิต พม.เร่งรณรงค์สร้างความตระหนักรู้หวังลดปัญหา
ในการแถลงข่าว ในประเด็น “ความตระหนักรู้ของสังคมไทยต่อพิษภัยความรุนแรงในครอบครัว” เนื่องในเดือนยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ตามการประกาศขององค์การสหประชาชาติ นพ.รณชัย คงสกนธ์ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาครอบครัว (กสค.) กล่าวว่า สถานการณ์การใช้ความรุนแรงในครอบครัวปัจจุบันยังเกิดขึ้นทุกวันและที่สำคัญระดับการใช้ความรุนแรงกลับมีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งองค์การสหประชาชาติระบุว่าประเทศไทยติดอันดับสถิติคดีความรุนแรงต่อเด็กและสตรีเป็นอันดับ1ใน10 ของโลกอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ล่าสุดจากการสำรวจโดยคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดทำเครื่องมือที่ได้มาตรฐาน โดยได้ดำเนินการสำรวจทั่วประเทศ จากจำนวน 2,280 ครัวเรือน พบว่าความรุนแรงต่อผู้หญิงและบุคคลในครอบครัวมีสัดส่วนความชุกถึงร้อยละ 34.6 เป็นความรุนแรงทางด้านจิตใจมีสัดส่วนมากถึง 1ใน 3 หรือร้อยละ 32.3 ความรุนแรงทางร่างกายประมาณร้อยละ 10 และความรุนแรงทางเพศมีประมาณร้อยละ5 แสดงให้เห็นถึงปัญหาที่มีความรุนแรงและมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น เห็นได้จากกรณีเหตุการณ์ในครอบครัวที่เป็นข่าวทางสื่อมวลชน เช่น กรณีสามีก่อเหตุแทงภรรยาจนเสียชีวิต ด้วยสาเหตุเมาสุราและเห็นภรรยาแต่งกายชุดวาบหวิว หรือกรณีเด็กนักเรียนชั้นป.3ข่มขืน นักเรียนหญิงชั้น ป.2 เป็นต้น ดังนั้นปัญหานี้จึงถือเป็นปัญหาใหญ่ที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันแก้ไขอย่างจริงจัง
ดร.นรีมาลย์ นีละไพจิตร อาจารย์โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ในส่วนของความรุนแรงทางเพศกลุ่มตัวอย่าง ประมาณร้อยละ 93 หรือเกือบทั้งหมดของผู้ที่ได้รับความรุนแรงทางเพศถูกใช้ความรุนแรงทางเพศในลักษณะมีเพศสัมพันธ์โดยไม่เต็มใจและประมาณ 1ใน4 ถูกใช้กำลังบังคับให้มีเพศสัมพันธ์ด้วย นอกจากนี้จะมีการกระทำถูกลวนลาม อนาจารและทำกิจกรรมทางเพศที่ไม่ชอบ และส่วนใหญ่จะเก็บปัญหาไว้ด้วยการอดทน และมีเพียงร้อยละ17 เท่านั้นที่มีการขอความช่วยเหลือ
นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า สาเหตุสำคัญประการหนึ่งของปัญหาความรุนแรงต่อเด็กสตรีและบุคคลในครอบครัว คือสาเหตุจากแนวคิดของสังคม ได้แก่ ค่านิยม ความเชื่อ จารีต ที่ถือกันว่าแนวความคิดเรื่องผู้ชายเป็นใหญ่ที่เชื่อมโยงความคิดว่าความรุนแรงเป็นเรื่องส่วนตัว ซึ่งการแก้ไขปัญหาดังกล่าว คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้เดือนพฤศจิกายนของทุกปีเป็นเดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี กระทรวงฯจึงได้ดำเนินการจัดกิจกรรมทั่วประเทศตลอดทั้งเดือนนี้
ทั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้สังคมตระหนักและเห็นความสำคัญของปัญหาความรุนแรงในครอบครัวที่มีแนวโน้มสูงขึ้น พร้อมทั้งเป็นการสร้างกระแสทางสังคมในการสร้างความร่วมมือจากประชาชนในการยุติปัญหาความรุนแรงในครอบครัวที่มีผลกระทบต่อเด็กสตรีและบุคคลในครอบครัว โดยจะมีการจัดงานประกาศเจตนารมณ์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรีและบุคคลในครอบครัวในวันที่ 23 พ.ย.นี้ ที่ทำเนียบรัฐบาลและจะประกาศ คิกออฟ พร้อมกันทั่วประเทศในวันที่25พ.ย.นี้ .-สำนักข่าวไทย