สงขลา 2 พ.ย.- สคร.12 เตือนประชาชนภาคใต้ตอนล่างดูแลสุขภาพ ช่วงนี้ยังมีฝนตกต่อเนื่อง น้ำท่วงขังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ห่วงยอดป่วยเพิ่มโรคชิคุนกุนยา ปีนี้พบแล้วกว่า 500 ราย มากสุดสตูล นราธิวาส สงขลา
นพ.สุวิช ธรรมปาโล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า ช่วงนี้พื้นที่ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกต่อเนื่อง และตกหนักในบางแห่ง ส่งผลให้บางพื้นที่มีแหล่งน้ำขัง นำมาซึ่งแหล่งเพาะพันธุ์ของลูกน้ำยุงลาย สาเหตุของการเกิดโรคชิคุนกุนยา หรือไข้ปวดข้อยุงลาย สำหรับสถานการณ์ของโรคในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม–30 ตุลาคม 2561 พบผู้ป่วยของโรค 538 ราย มากสุดที่จังหวัดสตูล 213 ราย นราธิวาส 192 ราย สงขลา 118 ราย และตรัง 15 ราย ตามลำดับ ส่วนจังหวัดสงขลาพบผู้ป่วยในอำเภอหาดใหญ่มากกว่าพื้นที่อื่นจำนวน 89 ราย โดยลักษณะอาการที่เด่นชัดคือ มีไข้ ออกผื่นและจะมีอาการปวดข้อ ข้อบวมแดง อักเสบและเจ็บ เริ่มจากบริเวณข้อมือ ข้อเท้า และข้อต่อแขนขา อาจพบอาการปวดกล้ามเนื้อด้วย อาการปวดข้อจะพบได้หลาย ๆ ข้อ เปลี่ยนตำแหน่งไปเรื่อย ๆ อาการจะรุนแรงมากจนบางครั้งขยับข้อไม่ได้ อาการจะหายภายใน 1-12 สัปดาห์ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดข้อเกิดขึ้นได้อีกภายใน 2-3 สัปดาห์ต่อมา และบางรายอาการปวดข้อจะอยู่ได้นานเป็นเดือนหรือเป็นปี โดยอาการแทรกซ้อนที่พบบ่อยสุดคืออาการปวดข้อเรื้อรัง บางรายเป็นหลายเดือนทำให้ไม่สามารถประกอบอาชีพตามปกติได้
นพ.สุวิช แนะว่า วิธีการป้องกันคือ ต้องกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ใช้มาตรการ “3 เก็บ” ได้แก่ 1.เก็บบ้านให้สะอาด โปร่ง โล่ง ไม่ให้เป็นที่เกาะพักของยุง 2.เก็บขยะ เศษภาชนะรอบบ้าน ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ 3.เก็บน้ำ สำรวจภาชนะใส่น้ำ ต้องปิดฝาให้มิดชิด ป้องกันยุงลายวางไข่.-สำนักข่าวไทย