สกศ.29 ต.ค.-บอร์ดอิสระปฏิรูปการศึกษา เปิดเวทีรับฟังความเห็นความคาดหวังการปฏิรูปการศึกษาในมุมสถานประกอบการ สะท้อนเด็กจบใหม่ยังไม่ตรงความต้องการตลาดแรงงาน ย้ำแผนปฏิรูป ตั้งเป้า 10 ปีเด็กเเข่งขันในสากล เสริมการพัฒนาชาติได้
นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา เป็นประธานจัดงานประชุม “ความคาดหวังในการปฏิรูปการศึกษาของสถานประกอบการ” ที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ร่วมกับคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาจัดขึ้นเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องการผลิตและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อการพัฒนาประเทศในมุมมองของภาคการผลิต ภาคบริการและภาคการท่องเที่ยว
นพ.จรัส ยังได้บรรยายพิเศษเรื่องทิศทางการปฏิรูปการศึกษาให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ โดยระบุว่า การปฏิรูปการศึกษาเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาในการพัฒนาหรือเปลี่ยนเเปลงให้ดีขึ้น ปัจจุบันการศึกษาไทยยังพบปัญหาในหลายด้าน อาทิ ความเหลื่อมล้ำสูง ติดกับดักความยากจน คุณภาพการศึกษาต่ำ ไม่ได้มาตรฐานทั้งในไทยเเละสากล ทำให้รัฐธรรมนูญใหม่ จึงกำหนดให้มีการปฏิรูปการศึกษาในทุกด้าน โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีเห็นชอบพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ เเละอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งคณะกรรมการอิสระได้เสนอไปพร้อมกับกฎหมายลูกอื่นๆ ได้แก่ พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ร.บ.พัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ พ.ร.บ.การอุดมศึกษาแห่งชาติ พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เเละพ.ร.ฎ.สถาบันหลักสูตรเเละการเรียนรู้แห่งชาติ เพื่อเเก้ปัญหาเเละพัฒนาการศึกษาในยุค 4.0
โดยภาพรวมของการปฏิรูปการศึกษาเน้นลดความเหลื่อมล้ำ กำหนดให้โรงเรียนเป็นศูนย์กลางของการยกระดับคุณภาพการศึกษา ปรับหลักสูตร ที่สอดคล้องกับทักษะคนรุ่นใหม่ในศตวรรษที่ 21 กำหนดให้เด็กมีคุณลักษณะเป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ มีความรับผิดชอบ มีสมรรถนะจำเป็นด้านภาษา การก้าวทันเทคโนโลยีใหม่เเละสามารถเชี่ยวชาญได้ตามความถนัดของตนเอง ที่ส่งผลให้เกิดการเรียนรู้เเละรักษาคุณภาพการศึกษา
สำหรับการเปลี่ยนเเปลงดิจิทัลทำให้การศึกษาเป็นเรื่องของการถ่ายทอดความรู้เเละสร้างวิชาชีพ หรือดิจิทัลเเพลตฟอร์มเพื่อการเรียนรู้แห่งชาติ, ยกเครื่องพัฒนาครู ปฏิรูปอาชีวศึกษา อุดมศึกษา เเละการศึกษาเพื่อชีวิต โดยตั้งเป้า 10 ปี คุณภาพการศึกษาเทียบระดับสากล เเข่งขันได้ เสริมการพัฒนาชาติ เเละความเหลื่อมล้ำเปลี่ยนเป็นเชี่ยวชาญความเป็นเลิศตามความถนัด
ขณะที่ในเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องการผลิตและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อการพัฒนาประเทศในมุมมองภาคการผลิต ภาคบริการและภาคการท่องเที่ยว นายวีรวัฒน์ วัฒนสิริ ผู้เเทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่าการศึกษาเป็นการเพิ่มพูนการเรียนรู้ของคน ในการต่อยอดสร้างสรรค์นวัตกรรม เพื่อการพัฒนาประเทศ แต่ปัจจุบันพบว่า เด็กที่จบการศึกษามายังไม่มีคุณภาพพอในการทำงาน เห็นด้วยกับการตั้งกระทรวงอุดมศึกษา เชื่อว่ามหาวิทยาลัยเป็นแกนนำทางความคิดเเละสมองของประเทศ มหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพจึงสำคัญเเละอยากให้มีการตั้งกระทรวงอาชีวศึกษาเเละกระทรวงการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อให้เกิดการทำงานในแนวราบที่สอดคล้องกับงานอุตสาหกรรมไทย ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของผู้เเทนสภาหอการค้า ที่สะท้อนว่า การผลิตนักศึกษาหรือเเรงงานยังไม่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน
ด้านตัวเเทนธนาคาร ชี้ว่าเด็กควรเรียนรู้มากกว่าการเรียนเพื่อได้เกรด การเรียนรู้ที่มี สามารถเอาไปใช้หรือไปต่อยอดในการทำงานอย่างไรได้บ้าง หลักสูตรที่บรรจุเข้าไปควรทำให้เด็กรู้ว่าสิ่งที่เรียนจะนำไปใช้ทำอะไรได้บ้าง เปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้จากการผิดพลาด เเละการเรียนรู้จะต้องเกิดขึ้นตลอดเวลา ที่สำคัญคือการสร้างร่วมมือในทุกภาคส่วน เพื่อให้มีการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพตลอดชีวิต การปฏิรูปการศึกษาควรเริ่มจากห้องเรียนไม่ใช่จากกระทรวง ต้องทำให้ทุกคนมีสิทธิเข้าถึงข้อมูลให้ได้เเม้ความเหลื่อมล้ำยังปรากฏ.-สำนักข่าวไทย