กรมชลฯ วางแผนบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง

กรุงเทพฯ  25 ต.ค. – กรมชลประทานมั่นใจมีน้ำพอใช้ตลอดหน้าแล้ง ขณะที่ฝนหลวงเร่งเติมน้ำช่วยพื้นที่เกษตร 


นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางมีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 60,994 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 80 ของความจุอ่างฯ รวมกันทั้งหมด คาดว่าวันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 จะมีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 39,373 ล้าน ลบ.ม. การจัดสรรน้ำใช้การนั้นแบ่งเป็น 2 ส่วนใช้หน้าแล้ง ตั้งแต่ 1 พฤศจิกายนถึง 30 เมษายน ประมาณร้อยละ 59 ปริมาณ 23,100 ล้าน ลบ.ม. และสำรองไว้ใช้เพื่อเตรียมการเพาะปลูกในต้นฤดูฝนตั้งแต่ 1 พฤษภาคมถึง 30 กรกฎาคม 2562 ปริมาณ 16,273 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเผื่อไว้ถึง 3 เดือน เนื่องจากปรากฏการณ์เอลนีโญอาจทำให้เกิดฝนมาช้าหรือฝนทิ้งช่วง

สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อยกว่าร้อยละ 50 ของความจุอ่างฯ 7 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่กวงอุดมธารา จ.เชียงใหม่ อ่างเก็บน้ำแม่มอก จ.ลำปาง อ่างเก็บน้ำทับเสลา จ.อุทัยธานี อ่างเก็บน้ำกระเสียว จ.สุพรรณบุรี อ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น อ่างเก็บน้ำห้วยหลวง จ.อุดรธานี และอ่างเก็บน้ำลำนางรอง จ.บุรีรัมย์ ได้วางแผนบริหารจัดการน้ำ เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำ เพื่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศอย่างเพียงพอตลอดฤดูแล้งนี้ ส่วนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งสามารถสนับสนุนได้เฉพาะพืชใช้น้ำน้อยเท่านั้น ยกเว้นอ่างเก็บน้ำแม่มอก  และอ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์ ที่ไม่สามารถสนับสนุนน้ำเพื่อการเกษตรได้ เนื่องจากมีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อยมากคงสนับสนุนได้เฉพาะน้ำอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศเท่านั้น


สำหรับลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ใช้น้ำต้นทุนจาก 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) ปัจจุบันมีปริมาณน้ำรวมกัน 19,116 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 77 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้ 12,420 ล้าน ลบ.ม. เพียงพอสนับสนุนการใช้น้ำในเขตชลประทาน ตลอดช่วงฤดูแล้งนี้

ส่วนภาคตะวันออก ที่มีความต้องการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งจำนวนมาก เนื่องจากเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของประเทศ มีทั้งแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก สวนผลไม้ส่งออก และเขตอุตสาหกรรมหนัก เป็นต้น กรมชลประทานวางระบบโครงข่ายการเชื่อมโยงแหล่งน้ำภาคตะวันออก เพื่อบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอต่อการใช้ในแต่ละกิจกรรมตลอดในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งปีนี้สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ในภาคตะวันออกอยู่ในเกณฑ์ดี มีปริมาณน้ำในอ่างฯ เฉลี่ยระหว่างร้อยละ 70-90 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 763 ล้าน ลบ.ม. เพียงพอที่จะสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว ในเขตโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก (Eastern Seaboard) จ.ระยอง และ จ.ชลบุรี

นายทองเปลว ยืนยันว่าพื้นที่สมัครเข้าร่วมโครงการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนาทั้งหมดจะมีน้ำเพียงพอตลอดฤดูกาลเพาะปลูก 4 เดือนแน่นอน ส่วนจังหวัดที่ขอสมัครเข้าร่วมโครงการเพิ่มจะเร่งออกไปสำรวจศักยภาพในการจัดสรรน้ำ หากที่ใดทำได้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะขอ ครม.อนุมัติขยายจังหวัด จากเดิมกำหนดพื้นที่เป้าหมายไว้ 33 จังหวัด สิ่งที่ต้องเฝ้าระวังอีกประการ คือ การควบคุมค่าความเค็มของน้ำภาคกลาง ต้องเฝ้าระวังค่าความเค็มของน้ำที่อำเภอสำแล ปทุมธานี ซึ่งต้องใช้น้ำผลิตน้ำประปา นอกจากนี้ ต้องเฝ้าระวังที่ อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี ซึ่งมีพืชสวนมากและปากคลองจินดา ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกกล้วยไม้แหล่งใหญ่ของ อ.สามพราน จ.นครปฐม 


สำหรับการเตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือพื้นที่ที่อาจจะประสบกับปัญหาภัยแล้ง นั้น กรมชลประทานเตรียมพร้อมเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ 1,851 เครื่อง กระจายอยู่ตามสำนักงานชลประทานที่ 1-17 จำนวน 1,151 เครื่อง สำรองไว้ที่ส่วนกลาง 700 เครื่อง นอกจากนี้ ยังมีรถบรรทุกน้ำอีก 200 คัน กระจายอยู่ตามโครงการชลประทานต่าง ๆ 150 คัน อีก 50 คัน สำรองไว้ที่ส่วนกลาง ซึ่งสามารถเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้ตลอดเวลา ส่วนพื้นที่ภาคใต้ซึ่งกำลังจะเข้าสู่ฤดูฝน นั้น กรมชลประทานเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ  โดยได้กำหนดจุดเฝ้าระวังเสี่ยงภัยน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดเพชรบุรีลงไป 75 จุด ได้มีการเตรียมพร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เครื่องจักร เครื่องมือต่าง ๆ ประจำไว้ในพื้นที่แล้ว

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวง กล่าวว่า ปัจจุบันยังมีเกษตรกรขอรับบริการฝนหลวงเพื่อใช้ทำการเกษตร 8.30 ล้านไร่ เนื่องจากบริเวณพื้นที่ดังกล่าวบางภูมิภาคประสบปัญหาฝนทิ้งช่วง เป็นพื้นที่ที่อยู่ในเขตอับฝน มีฝนตกน้อย ทำให้มีน้ำไม่เพียงพอสำหรับพืชบางชนิด อาทิ ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ที่มีความต้องการน้ำเพื่อการเจริญเติบโตให้ทันฤดูกาลเก็บเกี่ยวปลายปีนี้ ซึ่งจากการปฏิบัติการฝนหลวงเมื่อวันที่ 24 ตุลาคมที่ผ่านมาสามารถช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรบริเวณเชียงใหม่ สระบุรี ลพบุรี นครสวรรค์ อุทัยธานี สุพรรณบุรี ชัยนาท และสิงห์บุรี ประมาณ 170 ล้านลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้ แม้กรมอุตุนิยมวิทยาจะประกาศเข้าสู่ฤดูหนาววันที่ 27 ตุลาคมนี้ ทำให้มีความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศต่ำไม่เอื้ออำนวยต่อการทำฝน แต่ฝนหลวงจะยังคงเฝ้าติดตามสภาพอากาศช่วงชิงจังหวะที่สามารถปฏิบัติการให้เกิดฝนได้ทำต่อเนื่องไปจนถึงกลางเดือนพฤศจิกายนคาดว่าจะสามารถทำให้มีฝนตกลงมาเพิ่มปริมาณน้ำได้อีก 30 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ทั้งนี้แม้จะปิดหน่วยฝนหลวงทั้งหมดเพื่อนำอากาศยานเข้าซ่อมบำรุงก่อนจะเปิดตามแผนปฏิบัติการประจำปีเดือนมีนาคม 2562 กรมฝนหลวงฯ จะตั้งหน่วยเคลื่อนที่เร็ว 2 ชุดที่นครสวรรค์ เตรียมพร้อมขึ้นบินปฏิบัติการในพื้นที่ที่สภาพอากาศเอื้ออำนวยได้ทั่วประเทศ เนื่องจากหน้าแล้งเดือนหนึ่งจะมีวันที่มีความชื้นสัมพัทธ์ในบรรยากาศเกินกว่าร้อยละ 60 ซึ่งสามารถทำฝนให้ตกลงมาได้ เพื่อช่วยเหลือพื้นที่เกษตรโดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทาน

จากการปฏิบัติการฝนหลวง ประจำปีงบประมาณ 2561  ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา กรมฝนหลวงฯปฏิบัติการช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ประสบปัญหาภัยแล้งทั่วทุกภูมิภาคบริเวณพื้นที่การเกษตรที่ขาดแคลนน้ำทำการเกษตร การอุปโภค-บริโภค ตามการร้องขอฝน การวิเคราะห์สภาพอากาศและสถานการณ์ภัยแล้งเป็นประจำทุกวัน โดยภาพรวมของการขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม ถึงวันที่ 23 ตุลาคม 2561 ได้ขึ้นบินปฏิบัติการ 223 วัน 4,299 เที่ยวบิน ปริมาณการใช้สารฝนหลวง 3,621.83 ตัน มีฝนตกรวม 58 จังหวัด มีพื้นที่ที่ได้รับการช่วยเหลือ 137.57 ล้านไร่ จากพื้นที่การขอรับบริการและพื้นที่ภัยแล้ง 181.05 ล้านไร่ อีกภารกิจ คือ การช่วยเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักให้กับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ที่มีความต้องการทั่วทุกภูมิภาค โดยประสานข้อมูลกับกรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสามารถเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศรองรับการใช้การในช่วงฤดูแล้งที่กำลังจะมาถึง.-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

เหล้าเถื่อนลาว

เสียชีวิตรายที่ 6 คลัสเตอร์เหล้าเถื่อนในลาว

คลัสเตอร์เหล้าเถื่อนในลาว มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเสียชีวิตเพิ่มรายที่ 6 เป็นหญิงชาวออสเตรเลีย เสียชีวิตขณะรักษาตัวในไทย

ย้ายเจ้ากรมยุทธศึกษา ทบ.

ย้ายเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบก ช่วยปฏิบัติราชการที่กองบัญชาการกองทัพบก หลังถูกร้องทำร้ายร่างกายผู้ใต้บังคับบัญชา พร้อมช่วยเจ้าทุกข์ย้ายหน่วยตามร้องขอ

ไฟไหม้โรงงานพัดลม เผาวอดเสียหายกว่า 50 ล้าน

ไฟไหม้โรงงานผลิตพัดลมรายใหญ่ จ.สมุทรสาคร ระดมรถดับเพลิงระงับเหตุ กว่า 5 ชม. จึงควบคุมไว้ได้ในวงจำกัด เบื้องต้นเสียหายกว่า 50 ล้านบาท

ข่าวแนะนำ

ศึกชิงนายก อบจ.เพชรบุรี แชมป์เก่ายังแรง

เลือกตั้งนายก อบจ.เพชรบุรี ไม่คึกคัก ผลไม่เป็นทางการ “ชัยยะ อังกินันทน์” แชมป์เก่า คะแนนนำทิ้งห่างคู่แข่ง ด้านเลขาฯ กกต. เผยภาพรวมทั้ง 3 จังหวัด คนมาใช้สิทธิน้อย คาดเบื่อเลือกตั้ง 2 รอบ

คะแนนไม่เป็นทางการ เลือกตั้งนายก อบจ.นครฯ

ลุ้นผลคะแนนเลือกตั้งนายก อบจ.นครศรีธรรมราช นับเสร็จแล้วบางหน่วย ล่าสุด ณ เวลา 19.40 น. “วาริน ชิณวงศ์” เบอร์ 2 จากทีมนครเข้มแข็ง ชนะคู่แข่งขาดลอยในหลายหน่วย คะแนนทิ้งห่างแชมป์เก่า “กนกพร เดชเดโช” เบอร์ 1 จากพรรค ปชป.

ลุ้นผลเลือกตั้งนายก อบจ.อุดรธานี

การเลือกตั้งนายก อบจ.อุดรธานี ขณะนี้การนับคะแนนตามหน่วยต่างๆ เสร็จสิ้นแล้ว อยู่ในขั้นตอนการรวมคะแนน ซึ่งในเขตเมือง ผลปรากฏว่าผู้สมัครจากพรรคประชาชนมีคะแนนนำ แต่อำเภอรอบนอก ตัวแทนพรรคเพื่อไทยมีคะแนนนำอยู่หลายหน่วยเลือกตั้ง

เร่งประสานอินเตอร์โพลขอหมายแดงล่าตัว “หมอบุญ”

ตำรวจเตรียมออกหมายจับเครือข่าย “หมอบุญ” ฉ้อโกง ลอต 2 รวมทั้งเร่งประสานอินเตอร์โพล ออกหมายแดงล่าตัว “หมอบุญ” กลับมาดำเนินคดี