กรุงเทพฯ 6 ม.ค. – “ประเสริฐ” เรียกประชุม กนช. ประเดิมต้นปี 68 ไฟเขียวโครงการแก้ไขปัญหาอุทกภัย พร้อมสั่งหน่วยงานป้องกันเชิงรุก ลดความเสี่ยงขาดแคลนน้ำฤดูแล้งนี้ เลขาธิการ สทนช. ระบุว่าฤดูแล้งปี 2568 รุนแรงน้อยกว่าปีที่แล้วเนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนมีมากกว่าและอยู่ในสภาวะลานีญา ต่างจากปีที่ผ่านมาซึ่งเป็นเอลนีโญ แต่ต้องเฝ้าระวังการขาดแคลนน้ำเพื่อการผลิตประปาท้องถิ่น
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 1/2568 โดยมี ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยรองนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า ในวันนี้ได้ติดตามความก้าวหน้าการเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูแล้ง และได้มอบหมาย สทนช. บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งขับเคลื่อน 8 มาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2567/68 เพื่อเป็นการดำเนินการป้องกันในเชิงรุกก่อนเกิดภัยแล้ง รวมทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและจังหวัด สร้างการรับรู้และความเข้าใจกับประชาชนในการบริหารจัดการน้ำอย่างมีส่วนร่วม เพื่อป้องกันความขัดแย้งในพื้นที่และรณรงค์การใช้น้ำอย่างประหยัด พร้อมมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำใช้การน้อย โดยบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้มีน้ำใช้ได้อย่างเพียงพอตลอดฤดูแล้งและต่อเนื่องจนถึงต้นฤดูฝน ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ (ร่าง) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ปี 2568 จำนวน 19,970 รายการ โดยให้ สทนช.นำแผนปฏิบัติการภายใต้โครงการดังกล่าว เสนอสำนักงบประมาณเพื่อพิจารณาต่อไป
ที่ประชุมยังได้พิจารณาแผนงานโครงการด้านทรัพยากรน้ำต่างๆ ซึ่งผ่านการจัดลำดับความสำคัญและกลั่นกรองตามระบบ ซึ่งบางโครงการมีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาและส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบโครงการตามที่หน่วยงานเสนอ ประกอบด้วย
- โครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง
เป็นโครงการที่ใช้ในการบริหารจัดการน้ำหลากและน้ำฝนในพื้นที่เจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง โดยเริ่มตั้งแต่คลองระพีพัฒน์จนถึงสถานีสูบน้ำและประตูระบายน้ำต่าง ๆ บริเวณชายทะเลอ่าวไทย สามารถป้องกันและลดปัญหาพื้นที่น้ำท่วมได้เฉลี่ย 298,250 ไร่ บริเวณพื้นที่ชุมชนและเขตเศรษฐกิจที่สำคัญ อีกทั้งยังเป็นแหล่งเก็บกักน้ำในช่วงฤดูแล้งได้อีก 17 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปีด้วย โดยมอบหมายกรมชลประทานดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนเร่งรัดจัดทำแผนการจัดการสิ่งรุกล้ำร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) และกระทรวงมหาดไทยที่อยู่ภายในเขตคลองให้สอดคล้องกับแผนงานก่อสร้างทั้งโครงการ รวมถึงดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จตามแผนงานที่กำหนดอย่างเคร่งครัด - แผนหลักการปรับปรุงแม่น้ำสายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัย – โคลนแบบยั่งยืนบริเวณด่านการค้าชายแดนแม่สาย พื้นที่ชุมชน พื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของเทศบาลตำบลแม่สาย และพื้นที่ต่อเนื่อง จังหวัดเชียงราย โดยที่ประชุมเห็นชอบให้กรมโยธาธิการและผังเมือง ศึกษาและบูรณาการแผนงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการจัดทำแผน โดยพิจารณาให้มีความเหมาะสมทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และวิศวกรรม
- การขับเคลื่อนโครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำหลักเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมืองพัทยา ระยะที่ 1 จังหวัดชลบุรี
เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถรองรับการระบายน้ำในพื้นที่พัทยาใต้ พัทยากลาง และถนนเทพประสิทธิ์ รวมประมาณ 15 ตารางกิโลเมตร (9,375 ไร่) ได้ประโยชน์ 37,300 ครัวเรือน โดยให้เมืองพัทยาพิจารณาเร่งรัดดำเนินโครงการ และมอบกรมโยธาธิการและผังเมืองทบทวนการศึกษาแผนหลักการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและการระบายน้ำฯ เมืองพัทยา รวมทั้งศึกษาและออกแบบรายละเอียดในแผนงานระยะเร่งด่วนให้สอดคล้องแผนงานที่ได้ดำเนินการไว้แล้ว
เลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมยังได้เห็นชอบในหลักการ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 ภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ที่ผ่านการตรวจสอบกลั่นกรองและมีความพร้อม จำนวน 53,969 รายการ ซึ่งรวมถึงโครงการป้องกันน้ำท่วมภายในเขตเทศบาลเมืองปัตตานี ที่บรรจุเข้ามาเพิ่มเติมเนื่องจากเป็นโครงการสำคัญที่ต้องดำเนินการเร่งเด่วน โดยให้เทศบาลเมืองปัตตานีเสนอคณะกรรมการลุ่มน้ำพิจารณาให้ความเห็นก่อนขอรับ
การสนับสนุนงบประมาณ ทั้งนี้ ได้มอบหมาย สทนช. นำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำดังกล่าว เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาในการจัดทำงบประมาณประจำปี ตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ต่อไป พร้อมกันนี้ ยังได้รับทราบแผนงานโครงการตาม (ร่าง) แผน 3 ปี ด้านทรัพยากรน้ำและโครงการสำคัญ จำนวน 17,381 รายการ ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง อุทกภัย และน้ำอุปโภคบริโภค ตามนโยบายรัฐบาล โดยให้หน่วยงาน จังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นำแผนงานโครงการที่มีความพร้อมไปดำเนินการตามแนวทางการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำ และเสนอขอรับงบประมาณตามความเหมาะสม โดย สทนช. จะติดตามความก้าวหน้าและเร่งขับเคลื่อนการดำเนินโครงการด้านทรัพยากรน้ำในพื้นที่ทุกจังหวัดอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาในระยะยาวตามนโยบายของรองนายกรัฐมนตรี
สำหรับการจัดทำผังน้ำ ตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ปัจจุบันผังน้ำลุ่มน้ำชีและลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่าง ซึ่งได้รับความเห็นชอบจาก กนช. แล้ว อยู่ในระหว่างการจัดเตรียมเอกสารเสนอประกาศในราชกิจจานุเบกษา
นอกจากนี้ที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบผังน้ำเพิ่มเติมเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาอีก 3 ลุ่มน้ำ ได้แก่ ลุ่มน้ำสะแกกรัง ลุ่มน้ำวัง และลุ่มน้ำน่าน ในส่วนของลุ่มน้ำอื่น ๆ สทนช. จะเร่งดำเนินการตามขั้นตอนก่อนเสนอ กนช. พิจารณาเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในทุกลุ่มน้ำต่อไป
เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า ขณะนี้เป็นฤดูฝนของภาคใต้ โดยช่วงกลางเดือนมกราคมยังต้องเฝ้าระวังปริมาณฝนที่จะเพิ่มขึ้น ขณะที่ตอนบนของประเทศอยู่ในห้วงฤดูแล้ง สถานการณ์น้ำในฤดูแล้งปีนี้ไม่รุนแรงเท่าปีที่ผ่านมาเนื่องจากปริมาณน้ำเก็กกักในเขื่อนมีมากกว่า รวมถึงอยู่ในสภาวะลานีญา ต่างจากปีที่แล้วซึ่งเป็นเอลนีโญ แต่ยังต้องเฝ้าระวังการขาดแคลนน้ำสำหรับการผลิตประปาท้องถิ่นในหลายจังหวัดซึ่งได้ประสานหน่วยงานต่างๆ เตรียมพร้อมเพื่อสนับสนุนแล้ว. -512 – สำนักข่าวไทย