รร.มิลเลนเนียน ฮิลตัน กทม.25 ต.ค.-ม.ศิลปากร ร่วมกับ องค์กรจัดอันดับมหาวิทยาลัยระดับโลก จัดประชุมสุดยอดด้านศิลปะและการออกแบบระดับนานาชาติ ครั้งแรกของโลก หวังเชื่อมโยงมหาวิทยาลัยเฉพาะด้าน พัฒนาการเรียนการสอนด้านศิลปะและการออกแบบ สู่มาตรฐานสากล
ผศ.วันชัย สุทธะนันท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นประธานในพิธีเปิดงานประชุมสุดยอดวิชาการนานาชาติด้านศิลปะและการออกแบบ QS Totally Arts Summit:Arts and Design ภายใต้หัวข้อการศึกษาด้านศิลปะและการออกแบบในศตวรรษที่ 21: เติมไฟให้ศรัทธา มุ่งหน้าสู่ความฝัน ที่โรงแรมมิลเลนเนียน ฮิลตัน กรุงเทพฯ จัดขึ้น ระหว่างวันที่ 24 – 26 ตุลาคม 2561
อธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า การประชุมสุดยอดด้านศิลปะและการออกแบบระดับนานาชาติ จัดเป็นครั้งแรกของโลก ระหว่างองค์กรจัดอันดับมหาวิทยาลัยระดับโลก หรือ Qs Asia กับมหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและความก้าวหน้าทางวิชาการ ด้านศิลปะและการออกแบบ ระหว่างศิลปิน นักออกแบบ นักวิชาการด้านศิลปะ ตลอดจนคณาจารย์ นักศึกษา และผู้สนใจทั่วไป ในหัวข้อ การศึกษาด้านศิลปะและการออกแบบในศตวรรษที่ 21: เติมไฟให้ศรัทธา มุ่งหน้าสู่ความฝัน โดยภายในงานคัดผลงานชิ้นเอกจากจากคลังสะสม 70 ปีหอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร การจัดแสดงผลงานด้านศิลปะและการออกแบบที่โดดเด่น ฝีมือนักศึกษาศิลปากรตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ที่ได้รับรางวัลจากการประกวดระดับชาติ เพื่อให้เป็นที่ประจักษ์ในระดับสากล โดยได้คัดเลือกผลงานยอดเยี่ยมกว่า 18 ชิ้นจากทั้งหมดกว่าหลายพันชิ้นมาจัดแสดง มาให้ร่วมชม
นอกจากนี้ มีวิทยากรกิตติมศักดิ์ 4 คนคือ ศ.ชิโระ มัตซุย อาจารย์ประจำสาขาภาพแกะสลัก มหาวิทยาลัยศิลปะและการออกแบบแห่งเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น, ศ.นอร์แมน แชรร์รี่ อดีตรองอธิการบดีฝ่ายศิลปกรรม มหาวิทยาลัยลินคอล์น สหราชอาณาจักร, ศ.กินไว๋ ไมเคิล ซิว ผู้เชี่ยวชาญด้าน Public Design มหาวิทยาลัยโพลีเทคนิคฮ่องกง และคุณอริญชย์ รุ่งแจ้ง ศิลปินผู้ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยศิลปากร มาร่วมพูดคุยใน 4 ประเด็นหลัก คือ การปฏิรูปการเรียนการสอนด้านศิลปะการออกแบบ, ศิลปะการออกแบบในฐานะพื้นฐานของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ,วัตถุประสงค์และผลกระทบ : ศิลปะในสังคมมนุษย์ร่วมสมัย และการวัดความเป็นเลิศด้านการศึกษาด้านศิลปะและการออกแบบ
สำหรับการจัดประชุมครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาการเรียนการสอนของวงการศิลปะและการออกแบบของแต่ละมหาวิทยาลัยให้เชื่อมต่อกันสู่ความเป็นสากล .-สำนักข่าวไทย