ม.ศิลปากร 10 ต.ค.-ม.ศิลปากร นำผลงานศิลปะระดับรางวัล-หาชมยากกว่า 18 ชิ้นอวดนานาชาติ ในงาน QS Totally Arts Summit ครั้งเเรกของโลก ระหว่างวันที่ 24-26 ต.ค.นี้
นายวันชัย สุทธะนันท์ อธิการมหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากรเตรียมยกผลงานศิลปกรรมสะสมที่ขึ้นทะเบียนไว้กับหอศิลป์ฯมาอวดโฉมจัดเเสดงให้ศิลปินเเละคนในวงการศิลปะทั้งไทยเเละต่างชาติ รวมถึงผู้ที่สนใจได้ชมภายในงานประชุมสุดยอดวิชาการศิลปะนานาชาติ QS Totally Arts Summit ที่มหาวิทยาลัยศิลปากรได้รับคัดเลือกให้เป็นมหาวิทยาลัยเเห่งเเรกของโลกในการเป็น partnerจัดงานร่วมกับสำนักจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก(Quacquarelli Symondsหรือ QS) โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 24-26 ตุลาคม 2561 ณ Millennium Hilton Bangkok Hotel
ภายในงานนอกจากจะมีการประชุมเพื่อเปิดโอกาสแลกเปลี่ยนประสบ การณ์ด้านศิลปะเเละการออกเเบบเเละกิจกรรม Key Note Speaker สร้างเเรงบันดาลใจด้านศิลปะจากศิลปินชื่อดังในระดับโลกแล้ว กิจกรรม ที่เป็นอีกหนึ่งไฮไลท์คือ การจัดเเสดงผลงานด้านศิลปะเเละการออกแบบที่โดดเด่น ฝีมือนักศึกษาศิลปากรตั้งเเต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ที่ได้รับรางวัลจากการประกวดระดับชาติ เพื่อให้เป็นที่ประจักษ์ในระดับสากล โดยได้คัดเลือกผลงานยอดเยี่ยมกว่า 18 ชิ้นจากทั้งหมดกว่าหลายพันชิ้นมาจัดเเสดง
น.ส.ปรมพร ศิริกุลชยานนท์ ผู้อำนวยการหอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร มีหน้าที่ดูเเลคลังสะสมผลงานศิลปกรรมของมหาวิทยาลัยศิลปากร โดยในงานประชุมสุดยอดวิชาการศิลปะนานาชาติครั้งนี้ ได้คัดสรรผลงานที่ได้รับรางวัลจากเวทีการประกวดระดับชาติ 3 เวที ได้แก่ การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ การแสดงศิลปกรรมร่วมสมัยของศิลปินรุ่นเยาว์ และการแสดงเครื่องปั้นดินเผาแห่งชาติมาจัดเเสดง โดยส่วนหนึ่งของผลงาน ได้แก่ งานจิตรกรรมเเละภาพพิมพ์อันทรงคุณค่าของศิลปินที่มีชื่อเสียงอันดับต้นของประเทศ จนได้รับรางวัลเหรียญทองจากงานศิลปกรรมแห่งชาติ อาทิภาพ”ต้นฉบับ” ของพิษณุ ศุภนิมิตร ศิลปินรุ่นใหญ่ รังสรรค์งานศิลปะโดยใช้เทคนิคกระดาษเเละสีอะครีลิคบนไม้ ขณะที่ผลงาน “ปัญญา”ของปริญญา ตันติสุข ที่สื่อสารมุมมองผ่านงานจิตรกรรม โดยใช้สีอะครีลิคเเละทองคำเปลวบนผ้าใบ ไม่ต่างจากงานของอารยา ราษฎร์จำเริญสุข ที่สื่อสารผ่านเทคนิคเเม่พิมพ์โลหะ ทำให้ผลงาน”นึกถึงยาย” สะท้อนความรู้สึกที่ศิลปินต้องการถ่ายทอดได้เป็นอย่างดี
ขณะเดียวกันงานจิตรกรรมสะท้อนสังคมผ่านความเชื่อที่สืบทอดมาอย่างช้านาน “ตระกูลผีกะ” ของวีระศักดิ์ สัสดี ที่ใช้สีอะครีลิครังสรรค์งาน ได้รับรางวัลเหรียญเงิน จากงานศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 55 โดยได้เเนวคิดมาจากผีกะ ผีผู้หญิงในตำนานพื้นบ้านล้านนา ซึ่งไม่ว่าผู้หญิงคนนั้นจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร หากในเวลากลางคืนจะมีลิงวอกมานั่งอยู่บนบ่าคอยเลียแก้ม จนทำให้ใบหน้างดงามชวนหลงใหล แต่ภายใต้ความงามกลับทำให้เป็นที่รังเกียจ เพราะการกล่าวหาว่าผู้หญิงคนใดเป็นผีกะ ถือได้ว่าเป็นวิธีการลงโทษทางสังคมอย่างหนึ่ง เปรียบได้กับผู้หญิงบางกลุ่มในสังคมปัจจุบัน ทั้งที่เต็มใจและไม่เต็มใจ อาจไม่รู้เท่าทันสังคมจากภาวะสังคมที่แปรเปลี่ยน จึงประพฤติในสิ่งที่ผิดจารีตประเพณี ทำให้สังคมลงโทษ ตัดสินเเละไม่ยอมรับ
ด้านผลงานรางวัลเหรียญทอง“พื้นที่สภาวะแห่งความสุขสงบของจิตหมายเลข 2” นำความธรรมดา ลักษณะพื้นที่ภายในห้องส่วนตัวมาผสมกันอย่างพอดีเเละกลมกล่อมกับการจัดวางสิ่งของร่วมกับบรรยากาศ สี แสง เงา ทั้งลงตัวกับการใช้เทคนิคแม่พิมพ์แกะไม้ ในลักษณะที่เบาบางทางสายตาที่ผสานกันอย่างประณีต สอดคล้องกับการขัดเกลาจิตใจที่สะท้อนให้เห็นถึงหลักการดำเนินชีวิตส่วนตัวที่สุขสงบ เปรียบเป็นแสงแห่งปัญญา ชี้นำไปสู่การก้าวย่างการดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุข โดยประวีณ เปียงชมภู ศิลปินเจ้าของผลงาน ตั้งใจสร้างเอกภาพทางสุนทรีย์แห่งความสุขสงบผ่านงานศิลปะที่สื่อความหมาย ความรู้สึก สภาวะนามธรรมของจิต จนได้รับรางวัเหรียญทอง จากการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 61
งานศิลปะสื่อสารมุมมองความรักที่มักเลือกอยู่กับคนที่มองเห็น โดยมองข้ามความน่ารังเกียจและสังขารที่เหี่ยวย่น ที่ลำพู กันเสนาะ ศิลปินชื่อดังต้องการสะท้อนผ่านผลงาน “วันวานยังหวานอยู่”ใช้ปลายพู่กันบรรจงละเลงสีน้ำมันบนผ้าใบโดยวิธีการยืด หด ขยายผู้คน วัตถุเเละสิ่งเเวดล้อมเพื่อเพิ่มความรู้สึกของภาพให้ดูสมจริง เเม้เรื่องราวของภาพจะดูตลกขบขันเเต่กลับทำให้ผู้ที่พบเห็นได้พบคุณค่าของการมีชีวิตอยู่อย่างมีความสุขเเละสะท้อนว่าทุกคนต่างล้วนเเสวงหาความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์เเบบเฉกเช่นเดียวศิลปินที่ถ่ายทอดความสุขผ่านงานศิลปะ เเละได้รับรางวัลเหรียญทองเเดงจากการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 54
“ชีวิตแสนจะสบาย”ภาพสีอะครีลิคบนหนังเทียมของเกียรติอนันต์ เอี่ยมจันทร์ คว้าเหรียญเงินการงานการแสดงศิลปกรรมร่วมสมัยของศิลปินรุ่นเยาว์ ครั้งที่ 22 นำไอเดียการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศโดยธรรมชาติแบบกะทันหัน จะทำให้ระบบนิเวศเสียสมดุลและส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิต ซึ่งต้องอาศัยเวลาที่จะทำให้ธรรมชาติกลับคืนสู่สภาพเดิม เเต่ถึงอย่างไรร่องรอยเเห่งการเปลี่ยนเเปลงก็ยังทิ้งไว้ให้ได้นึกถึง ว่าครั้งหนึ่งเคยเกิดขึ้นเเล้ว
จิตรกรรมผ่านการรังสรรค์จาก 4 เทคนิคทั้งสีน้ำมัน สีอะครีลิค สีพลาสติก และเกรยองที่ผสมผสานกันอย่างลงตัวกลายเป็นผลงาน “จับ-ต้อง” ของวราวุฒิ โตอุรวงศ์ ที่มีเเนวคิดจากมุมมองอัตนิสัยขอฃมนุษย์ โดยเปรียบเปรยจากวัตถุที่มีพลังกระตุ้น กิเลสตัณหาของมนุษย์อย่างไม่รู้จบ ส่งผลให้มนุษย์ยอมสละทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อให้ได้มันมาเชยชม ยึดครอง หวงแหน ไว้ด้วยความพึงพอใจ และหลงเชื่อว่านั่นคือความสุขที่แท้จริง จึงเหมือนกับการพยายามหลอกตัวเอง ตามกลไกของรูปแบบชีวิตที่มนุษย์เป็นทั้งผู้กำหนดขึ้นและยินยอมเองทั้งสิ้น โดยงานจิตรกรรมนี้ได้รับรางวัลเหรียญเงินจากการแสดงศิลปกรรมร่วมสมัยของศิลปินรุ่นเยาว์ ครั้งที่ 24
ขณะที่ผลงาน “ช่วงเวลาแห่งความสุข หมายเลข 1” MOMENTS OF JOY NO.1 ที่สุรศักดิ์ แสนโหน่งเลือกใช้ดินบ้านหม้อมาขึ้นรูปด้วยมือ เพื่อบอกเล่าความประทับใจเวลาที่ได้สัมผัสความเจริญงอกงามในธรรมชาติ อันก่อให้เกิดความงดงามในชีวิตที่ส่งผลให้เกิดความสุข สงบในการดำเนินชีวิต จนกลายเป็นงานศิลปกรรมที่ได้รับรางวัลดีเด่นจากการแสดงศิลปะเครื่องปั้นดินเผาแห่งชาติครั้งที่ 17