กรุงเทพฯ 4 ต.ค. – สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือ คาดส่งออกไทย ยังเติบโตได้ร้อยละ 9 ตามเป้าหมายเดิม จากหลายปัจจัยบวก
นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) แถลงข่าวร่วมกับ นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธาน สรท. และระบุว่า การส่งออกเดือนสิงหาคม 2561 มีมูลค่า 22,794 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวต่อเนื่องในระดับสูงเป็นเดือนที่ 18 ที่ 6.7% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) การส่งออกในรูปเงินบาทเท่ากับ 755,232 ล้านบาท ขยายตัว 6.1% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (YoY) ในขณะที่ การนำเข้าในเดือนสิงหาคม 2561 มีมูลค่า 23,383 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 22.8% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน (YoY) และการนำเข้าในรูปของเงินบาทมีมูลค่า 784,848 ล้านบาท ขยายตัว 22.2% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน (YoY)
ส่งผลให้ เดือนสิงหาคม 2561 ประเทศไทยขาดดุลการค้า 588 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 29,616 ล้านบาท ภาพรวมช่วงเดือนม.ค.- ส.ค. ปี 2561 ไทยส่งออกรวมมูลค่า 169,030 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 10.0% (YoY) คิดเป็นมูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทที่ 5,381,110 ล้านบาท ขยายตัว 1.9% (YoY) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 166,679 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 15.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) หรือคิดเป็นมูลค่า 5,379,050 ล้านบาท ขยายตัว 7.5% (YoY)
ส่งผลให้ ช่วงเดือน ม.ค.-ส.ค. 2561 ประเทศไทยเกินดุลการค้า 2,351 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 2,061 ล้านบาท ส่งผลให้การส่งออกในเดือนสิงหาคม กลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัวที่ 4.1% (YoY) ขณะที่ กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม ยังคงขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 18 ที่ 5.8% (YoY)
การส่งออกของไทยในเดือนสิงหาคม ปี 2561 ยังขยายตัวดี โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดอาเซียนและ CLMV รวมถึงการส่งออกไปอินเดียและเอเชียใต้ยังขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่อง ส่วนการส่งออกไปจีนชะลอลงเล็กน้อยที่ร้อยละ 2.3 ขณะที่การส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่น สหรัฐและสหภาพยุโรป ยังคงขยายตัวร้อยละ 3.2 โดยการส่งออกไปญี่ปุ่นขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าและสหรัฐฯ กลับมาขยายตัวหลังจากหดตัวในเดือนก่อน ด้านตลาดศักยภาพระดับรอง ลาตินอเมริกา ทวีปออสเตรเลีย ขยายตัวที่ร้อยละ 5.1 และและกลุ่มประเทศ CIS ขยายตัวร้อยละ 6.6 10.1 และ 78.6 ตามลำดับ ส่วนตะวันออกกลางยังหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 6.7
สภาผู้ส่งออก คาดการณ์เติบโตทั้งปี 9% บนสมมติฐานค่าเงินบาทอยู่ที่ 33.0 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ และมีปัจจัยบวกสำคัญ ประกอบไปด้วย 1) ตลาดศักยภาพขยายตัวอย่างมากในแถบเอเชีย อาเซียน อินเดีย รวมถึงตลาดศักยภาพตลาดรองอย่าง รัสเซียและ กลุ่ม CIS (12) 2) การขาดดุลการค้าในเดือนสิงหาคม กว่าห้าร้อยล้านเหรียญสหรัฐ เกิดจากการนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบอย่างต่อเนื่อง เป็นสัญญาณการลงทุนของภาคการผลิตเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตและการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย 3) ดัชนีคาดการณ์ภาวะธุรกิจส่งออกในไตรมาส 4 อยู่ที่ระดับ 64.8 แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของผู้ส่งออกไทย 4) ผลกระทบเชิงบวกจากสถานการณ์สงครามการค้าและการปรับขึ้นภาษีรอบที่สามของสหรัฐ พบว่ามีรายการที่ส่งผลดีต่อสินค้าไทยในการส่งออกสินค้าทดแทนสินค้าจีนในตลาดสหรัฐฯ เช่น สินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป ข้าว ยางพาราขึ้นรูป ผักและผลไม้ อาหารทะเล เป็นต้น 5) กลุ่มประเทศอาเซียน อาจได้รับอานิสงค์จากการย้ายฐานการผลิตของบริษัทระดับ Global Supply Chain ไม่ว่าจะเป็น ไทย เวียดนามและอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจในอัตราสูงและเป็นตลาดเศรษฐกิจเกิดใหม่ ดึงดูดนักลงทุนต่างที่อาจได้รับผลกระทบจากสงครามทางการค้า
ขณะที่ ความเสี่ยงที่อาจเป็นอุปสรรคสำคัญประกอบด้วย 1) ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น จากการไหลกลับเข้ามาของเงินทุนต่างประเทศในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (Emerging Market) หลายประเทศเริ่มมีทิศทางแข็งค่าเพิ่มขึ้น ถึงแม้ว่า FED จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1.75-2 แต่ผลจากความไม่แน่นอนของสงครามการค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ทำให้เม็ดเงินยังคงต้องการ Save Haven ใน EM market 2) ความยืดเยื้อของสงครามการค้าที่อาจส่งผลกระทบในระยะยาวต่อภาคการส่งออก และห่วงโซ่อุปทานได้ โดยเฉพาะมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ภายใต้กฎหมายการค้ามาตรา 201 และ 232 ที่ส่งผลกระทบต่อยอดการส่งออกเครื่องซักผ้า แผงโซลาเซลล์ เหล็กของไทยมาแล้วก่อนหน้า รวมถึงในกลุ่มสินค้าส่วนประกอบรถยนต์ที่อาจมีแนวโน้มการเติบโตที่ลดลงเนื่องจากผู้ผลิตชิ้นส่วนในสหรัฐเริ่มกับมาผลิตชิ้นส่วนในประเทศมากขึ้น รวมถึงทิศทางการย้ายฐานการผลิตที่มีทิศทางการลงทุนไปยังประเทศเวียดนามและอินเดีย เป็นหลัก 3) ปัญหามาตรการคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐ ทำให้ทิศทางราคาน้ำมันดิบปรับขึ้น ราคาน้ำมันดิบปิดตลาดปรับตัวสูงขึ้นกว่าร้อยละ 3 แตะระดับ 75 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตและต้นทุนการขนส่งสินค้าปรับสูงขึ้น กระทบต่อความสามารถในการบริโภคของอุปสงค์ภายในประเทศและผลกำไรของผู้ประกอบการในทางอ้อม 4) ราคาสินค้าเกษตรและประมงบางรายการ ที่ยังคงเผชิญสภาวะตกต่ำ โดยเฉพาะยางพารา (อุปทานล้นตลาด) กุ้งและน้ำตาล (จากการขาดแคลนวัตถุดิบ) มะพร้าว (ราคาตกต่ำจากอุปทานในตลาดที่เพิ่มขึ้น) และ 5) ปัญหาด้านโลจิสติกส์ อาทิ ปัญหาความแออัดภายในท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนโลจิสติกส์และกฎระเบียบที่ไม่เอื้ออำนวยความสะดวกในการส่งออก – สำนักข่าวไทย