กรุงเทพฯ 4 ต.ค.-รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์สั่งเดินหน้ามาตรการให้เกษตรกรหยุดกรีดยาง
3 เดือน แบ่งตามภูมิภาค ไล่จากภาคเหนือลงมาภาคใต้ ลดผลผลิตยางที่ล้นตลาดเพื่อพยุงราคา
โดยรัฐจ่ายเงินชดเชยพร้อมพัฒนาอาชีพ
นายกฤษฏา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า
ได้วางมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางเดือดร้อนจากราคายางพาราต่ำหลายมาตรการ
ขณะนี้สั่งการให้นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ รักษาการผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย(กยท.)
ยกร่างหนังสือถามไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อหารือเรื่องขอกู้เงิน 9,000 ล้านบาท
โดยรัฐบาลรับรอง สำหรับใช้ในโครงการพัฒนาอาชีพเกษตรกรสวนยาง
ระหว่างที่ให้ชาวสวนยางหยุดกรีดยาง 3 เดือน ขณะนี้รักษาการผู้ว่าการกยท.
เตรียมชี้แจงคณะกรรมการกฤษฎีกาเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการผ่อนชำระเงินกู้
ซึ่งสัปดาห์หน้าคาดว่า จะทราบคำตอบว่า สามารถทำได้หรือไม่
สำหรับมาตรการหยุดกรีดยางจะเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน
2561ถึงเดือนเมษายน 2562 รวมพื้นที่ 3 ล้านไร่ทั่วประเทศ
ซึ่งรัฐจะจ่ายค่าชดเชยให้เกษตรกรช่วงหยุดกรีดไร่ละ 3,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน
ทั้งนี้กำหนดคุณสมบัติเบื้องต้นของเกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการว่า
ต้องเป็นผู้ปลูกยางพารารายละ 10-15 ไร่
รวมทั้งต้องปลูกยางในพื้นที่ที่ถูกกฎหมาย
นายกฤษฎา กล่าวอีกว่า การกำหนดพื้นที่หยุดกรีดยางไล่เรียงจากภาคเหนือ
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเนื่องจากในเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม ยังเป็นช่วงที่ต้นยางพาราในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังให้น้ำยางมากอยู่
จึงให้เริ่มหยุดกรีดตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน
เมื่อถึงเดือนมกราคมซึ่งเป็นช่วงยางผลัดใบซึ่งเป็นช่วงให้น้ำยางน้อย
ชาวสวนยางจะลดหรือหยุดกรีดยางอยู่แล้ว
ดังนั้นระยะเวลาหยุดกรีดจึงจะได้ต่อเนื่องนานขึ้น
แล้วไล่ลงมาภาคตะวันออกจนถึงภาคใต้ซึ่งจะเข้าสู่ช่วงยางผลัดใบเป็นลำดับถัดมา
ซึ่งจะต้องมีระบบควบคุมอย่างเคร่งครัดไม่ให้แอบกรีด
โดยจะจัดเก็บเครื่องมือกรีดทั้งหมด คาดว่า สามารถลดปริมาณยางเข้าสู่ตลาดได้
200,000 ตัน พร้อมกันนี้จะพัฒนาชาวสวนยางให้มีอาชีพเสริม โดยมีให้เลือกตามความถนัดและความสนใจ
จัดฝึกอบรม ซึ่งจะเป็นการพัฒนาศักยภาพเกษตรกร
โดยไม่พึ่งพาการทำเกษตรเชิงเดี่ยวอย่างเดียว
สำหรับการแก้ปัญหายางในสต็อก 104,000 ตัน ขณะนี้กยท.
ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
ศึกษาความเป็นไปได้ที่จะนำยางพาราไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตพลังงานชีวมวลว่า
สามารถแปรรูปเป็นพลังงานได้มากน้อยเพียงไร มีความคุ้มทุนหรือไม่
เพื่อเป็นการใช้ประโยชน์สูงสุด หากพบว่า มีความเหมาะสม ทางกยท.
จึงจะตกลงราคาซื้อขายกับกฟผ. ต่อไป–สำนักข่าวไทย