ระยอง 10 ธ.ค. – รัฐมนตรีเกษตรฯ เตรียมให้กยท. ลงนาม MOU กับผู้ประกอบการและภาคเอกชนขยายฐานการผลิตยางล้อในไทย พร้อมส่งเสริมหน่วยงานภาครัฐใช้ยางล้อจากโรงงานนี้ เพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศเพื่อสร้างเสถียรภาพให้เกษตรกร
ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เยี่ยมชมกระบวนการผลิตยางล้อ ณ โรงงานผลิตยางล้อบริษัท หวาอี้ กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด นิคมอุตสาหกรรมหลักชัยเมืองยาง อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง โดยระบุว่า ในเร็วๆ นี้จะมีการลงนาม MOU ระหว่างหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับผู้ประกอบการด้านผลิตยางล้อ เพื่อส่งเสริมการผลิตยางล้อรถยนต์และส่งเสริมการใช้ยางล้อดังกล่าวในหน่วยงานภาครัฐ
สำหรับแนวทางการร่วมลงนาม MOU กับภาคเอกชนในการผลิตล้อยางให้กับ กยท. ทำให้ไม่ต้องลงทุนสร้างโรงงานใหม่ เพื่อมีความพร้อมที่จะผลิตล้อยางให้กับ กยท. ได้ทันที รองรับการใช้ล้อยางรถยนต์ของหน่วยงานราชการทั้งในส่วนกลาง ส่วนท้องถิ่น และทหาร ซึ่งรถยนต์แต่ละคันมีอายุใช้ล้อยางประมาณ 2-3 ปี ก็จะต้องเปลี่ยนใหม่ หากดำเนินการได้เป็นรูปธรรมจะทำให้การใช้ยางในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน
นอกจากนี้ยังมีแนวทางใช้ยางพาราในการทำถนนยางพาราซอยซีเมนต์ของหน่วยภาครัฐ ซึ่งนอกจากจะเพิ่มปริมาณการใช้ยางได้ในปริมาณที่มากแล้ว ถนนยังมีความทนทานมีอายุการใช้งานยาวนานขึ้น สามารถป้องกันการซึมผ่านของน้ำได้ดี ลดการเกิดฝุ่นอีกด้วย
ทั้งนี้ได้หารือเบื้องต้นกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับให้รถยนต์ของหน่วยราชการใช้ล้อยางที่การยางแห่งประเทศไทย(กยท.) ผลิต โดยออกเป็นมติคณะรัฐมนตรีเพื่อให้มีผลบังคับใช้ ตลอดจนการทำถนนยางพาราซอยซีเมนต์ของหน่วยงานภาครัฐด้วย
ร้อยเอกธรรมนัสกล่าวว่า รได้สั่งการให้ กยท. ดำเนินการปรับสมดุลปริมาณยางในประเทศ โดยเร่งตรวจสอบสต๊อกยาง ตรวจสอบข้อมูลเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียน พื้นที่สวนยาง และปริมาณผลผลิตยาง เพื่อจัดทำฐานข้อมูลยางที่ครอบคลุมทั้งประเทศ (Big Data) ซึ่งจะช่วยให้การบริหารจัดการยาง กำหนดนโยบาย มาตรการต่างๆ ด้านยางได้อย่างสอดคล้อง เหมาะสมกับสถานการณ์ สามารถรองรับการตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์ยาง เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของยางพาราไทยอีกด้วย
ขณะที่การเร่งปราบปรามการลักลอบนำเข้ายางพาราผิดกฎหมายก็ต้องทำคู่ขนาดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทีมปฏิบัติการพิเศษ “พญานาคราช” จะสอดส่องและเฝ้าระวังการลักลอบนำเข้ายางผิดกฎหมาย หากพบเบาะแสผู้กระทำผิดให้แจ้งหน่วยงานผู้มีอำนาจดำเนินการจับกุมทันที พร้อมทั้งให้ กยท.บูรณาการร่วมทำงานกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ตั้งจุดตรวจสินค้าเกษตร ร่วมกับหน่วยงานด้านความมั่นคงในเส้นทางที่มีการขนส่งสินค้า โดยเฉพาะตามแนวตะเข็บชายแดนประเทศเมียนมาร์ หากเป็นยางพาราที่ขอใช้เส้นทางในประเทศไทยเป็นทางผ่านไปยังประเทศที่ 3 จะต้องมีเอกสารที่ถูกต้องและชัดเจนตรงกับปริมาณยางที่ขอผ่าน
ร้อยเอกธรรมนัสกล่าวเพิ่มเติมว่า เตรียมมาตรการส่งออกยางพาราแปรรูปที่มีมูลค่าสูงกว่าการส่งออกยางแผ่นแบบเดิม เพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรอย่างยั่งยืน รวมทั้ง การแลกเปลี่ยนเรียนรู้นวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิตยางจากภาคเอกชนเพื่อนำไปต่อยอดให้แก่เกษตรกรต่อไป . – 512 – สำนักข่าวไทย