ทำเนียบรัฐบาล 14 ก.ย.-รองนายกฯแจงเหตุใช้มาตรา44 ให้กรมบังคับคดียึดทรัพย์คดีจำนำข้าว เพียงเปลี่ยนผู้ยึดจากกระทรวงที่เกี่ยวข้องเป็น กรมบังคับคดี เนื่องจากข้าวจำนวนมาก
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย กล่าวถึงกรณีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ออกคำสั่งตามมาตรา 44 ให้กรมบังคับดคีออกคำสั่งทางปกครองเรียกค่าสินไหมคดีจำนำข้าวในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐตั้งแต่ปีการผลิต 48/49 จนถึงปีการผลิต 56/57 และพ่วงโครงการแทรกแซงมันสำปะหลังของรัฐ ตั้งแต่ปีการผลิต 51/52 จนถึ55/56 ว่า ก่อนหน้านี้รัฐบาลเคยระบุว่าจะไม่ใช้อำนาจตามมาตรา44 ตัดสินใครแล้วไปยึดทรัพย์โดยเด็ดขาด ทุกอย่างปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม
“แต่มาติดอยู่ว่ากรณีที่จะออกคำสั่งทางปกครองเรื่องจำนำข้าวแบบเร่งด่วน คือกรณีนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และต่อเนื่องไปยังกรณีวินิจฉัยเรื่องมันและข้าวโพด ซึ่งจะไปถึงการยึดทรัพย์ด้วย ซึ่งที่ผ่านมา หากแต่ละกระทรวงพบความผิด กระทรวงนั้นก็ไปยึดกันเอง แต่คดีนี้อาจต้องยึดจำนวนมาก ซึ่งแต่ละกระทรวงไม่มีคนดำเนินการ และหากยึดมาได้ก็ไม่มีที่เก็บ จึงต้องใช้อำนาจตามมาตรา44 ดำเนินการ ขอย้ำว่าไม่ได้ใช้มาตรา44 ยึด แต่เป็นการยึดตามกฏหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ซึ่งผู้ยึดเดิมคือเจ้ากระทรวงแต่เปลี่ยนเป็นกรมบังคับคดีแทน ส่วนจะยึดได้หรือไม่ได้เป็นไปตามกฏหมาย” นายวิษณุ กล่าว
เมื่อถามย้ำว่าคำสั่งนี้ทำให้เห็นว่าคดีของนายบุญทรง และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ใกล้วด เข้ามาทุกขณะหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ถึงกับงวด เพราะเมื่อออกคำสั่งแล้วต้องพิจารณาว่าบุคคลทั้งสองจะอุทธรณ์หรือไม่ ถ้าอุทธรณ์ที่ศาลปกครอง และศาลพิจารณาสั่งคุ้มครองชั่วคราว การยึดทรัพย์ต้องระงับไปก่อน แต่เมื่อคดีจบรู้แพ้รู้ชนะพบว่าผิด กรมบังคับคดีต้องมีหน้าที่ยึดเช่นเดิม ทั้งนี้ มาตรา44 ไม่มีผลต่อการพิจารณาคดีของศาลปกครอง เพราะศาลปกครองจะดูเหตุแห่งการรับผิด ความรับผิดเป็นมูลค่าความเสียหายขนาดนั้นหรือไม่ ดูวิธีพิจารณาอื่นๆ เช่นการตรวจสอบ ไต่สวนเป็นธรรมหรือไม่ ขาดอายุความหรือไม่ หากศาลเห็นด้วยทั้ง 3 ข้อก็ยึด แต่หากไม่ตกลงก็ยึดไม่ได้
ส่วนที่ว่าเหตุใดไม่ลงโทษผู้ปฏิบัติ แต่ลงโทษเพียงผู้คุมนโยบาบ ย นายวิษณุ กล่าวว่า ผู้คุมนโยบายถูกชี้มูลก่อนจึงต้องดำเนินการก่อน ส่วนผู้อื่นก็ต้องถูกดำเนินการเช่นกัน มีแนวทางดำเนินการกับเจ้าหน้าที่และเอกชนอื่นอีก และว่า “อะไรมาก่อนก็ต่องดำเนินการก่อน เพราะคดีนี้คณะกรรมการป้อิงกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ส่งมา ซึ่งคดีข้าวแบบจีทูจี ป.ป.ช.ส่งมา3ทาง คือ 1. การดำเนินคดีการเมือง ส่งให้สนช.ถอดถอน 2. ป.ป.ช.ส่งดำเนินคดีอาญา อัยการสั่งฟ้อง รับฟ้องสืบพยานกันอยู่ และ3. ป.ป.ช.ฟ้องแพ่ง โดยส่งมาว่า พร้อมรายชื่อผู้ที่ชี้มูลความผิดจำนวน 6 คน หากไม่ดำเนินการก็ผิดกฏหมายมาตรา157 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่.-สำนักข่าวไทย