กรุงเทพฯ 24 ก.ย. – สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) – สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ปตท.- กฟผ. ตบเท้าหนุน กระทรวงพลังงาน เปิดรับซองประมูลแหล่งปิโตรเลียม “บงกช-เอราวัณ” เพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน
ในวันนี้ (24 ก.ย.) ที่กระทรวงพลังงาน ตัวแทน ส.อ.ท. สหภาพแรงงาน ปตท. และสหภาพแรงงาน กฟผ.เข้าพบนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน สนับสนุนให้เดินหน้าการประมูลแหล่งปิโตรเลียม “บงกช-เอราวัณ” ตามแผนงานที่จะรับซองด้านเทคนิคและผลตอบแทนแก่รัฐในวันพรุ่งนี้ (25 ก.ย.) อย่างไรก็ตาม ที่ทำเนียบรัฐบาลสภาพลังงานเพื่อประชาชน พร้อมด้วยสมาพันธ์รัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย (สรส.) ยื่นหนังสือถึงรัฐบาลขอให้ชะลอการประมูลออกไป ให้เหตุผลเงื่อนไขหรือทีโออาร์การประมูลที่เป็นระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC ) ไม่ได้ทำผลประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ
นายพนมทวน ทองน้อย รองประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กฟผ.กล่าวว่า แม้ กฟผ.จะเป็นสมาชิก สรส.และรับทราบถึงการคัดค้านของ สรส.ที่มีสมาชิกของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ 40 แห่ง แต่ กฟผ.ก็ไม่ได้คัดค้านเรื่องการเปิดประมูลครั้งนี้ เพราะรับทราบดีว่าก๊าซฯ เป็นส่วนสำคัญของการผลิตไฟฟ้าที่มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 70 ของเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าทั้งหมด หากไม่มีก๊าซต่อเนื่องก็จะกระทบความมั่นคงด้านการผลิตไฟฟ้าแน่นอน
นางสาวอัปสร กฤษณะสมิต ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ปตท. ซึ่งไม่ได้เป็นสมาชิก สรส. กล่าวว่า ได้ติดตามเรื่องเปิดประมูลปิโตรเลียมมานานแล้ว ในขณะนี้เห็นความล่าช้า จึงขอสนับสนุนการเปิดประมูลเพื่อเป็นหลักการประกันด้านความมั่นคงด้านพลังงาน และปกป้องคนงานทั้งหมดในกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานและห่วงโซ่อุปทาน ทั้งปิโตรเลียมขั้นต้น-ขั้นปลาย จึงอยากให้รัฐบาลเร่งตัดสินใจในสิ่งที่จะทำให้ประเทศและประชาชนไม่เสี่ยงกับการขาดแคลนพลังงาน หรือตกอยู่ในภาวะที่ต้องใช้พลังงานในราคาที่สูงเกินความจำเป็น เพราะความล่าช้าทำให้เสียโอกาสในการนำทรัพยากรของประเทศมาใช้ในเวลาที่เหมาะสมกับความจำเป็น
นายบวร วงศ์สินอุดม รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า หากประมูลล่าช้ากำลังการผลิตก๊าซฯ จะหายไปทั้งหมดจะกระทบต่อการผลิตโรงไฟฟ้าประมาณ 10 แห่งและยังกระทบให้แอลพีจีขาดแคลน แม้จะนำเข้าแอลเอ็นจีได้ แต่ไม่เพียงพอและจะทำให้ค่าไฟแพงขึ้น และยังกระทบต่ออุตสาหกรรมเป้าหมายที่วางไว้ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งที่ผ่านมา PSC นี้เป็นไปตามข้อเรียกร้องของผู้คัดค้าน ส่วนข้อเสนอของกลุ่มคัดค้านที่เสนอที่เป็นสัญญาจ้างบริการ (SC) ก็อยากถามว่ารัฐบาลมีเงินลงทุนหรือไม่ หรือถ้าลงทุนไปแล้วเสี่ยงจะดำเนินการอย่างไร
นายวุฒิกร สติฐิต ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่จัดการและตลาดก๊าซธรรมชาติ หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ปตท. กล่าวว่า ตามที่กระทรวงพลังงานกำหนดไว้ในทีโออาร์ให้ผู้ยื่นประมูลต้องมีกำลังผลิตก๊าซจากบงกช-เอราวัณ รวม 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากที่ปัจจุบันมีกำลังผลิตรวม 2,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่ง ปตท.ได้มีการวางแผนพร้อมรับการผลิตแผนดังกล่าวได้มีการลดปริมาณก๊าซที่ส่งตรง (BY PASS ) ไปยังโรงไฟฟ้าโดยตรง ดังนั้น ก๊าซที่เหลือจึงส่งมายังโรงแยกก๊าซฯ โดยปริมาณ1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วันเป็นอัตราขั้นต่ำ โดยต้องตามดูว่าพรุ่งนี้กลุ่มผู้ยื่นประมูลจะเสนออัตราใด
นายศิริ กล่าวว่า ในส่วนที่ต้องกำหนดอัตราขั้นต่ำเพียง 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เนื่องจากที่ปรึกษาได้มาติดตามปริมาณก๊าซในอ่าวไทยพบว่าสำรองที่ลดลงทำให้ไม่สามารถเรียกก๊าซได้เพิ่มมากกว่านี้ เป็นส่วนที่ยืนยันชัดเจนว่าการผลิตก๊าซในอ่าวไทยไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ โดยมีเงื่อนไขสำคัญในการพิจารณาผู้ชนะประมูล คือ ราคาจำหน่ายก๊าซฯ ต้องต่ำกว่าราคาก๊าซในอ่าวไทย เพื่อไม่ให้กระทบต่อราคาค่าไฟฟ้าของประเทศ
ส่วนกลุ่มผู้คัดค้านที่ระบุว่าผู้ยื่นประมูล เช่น เชฟรอนฯ และ บมจ.ปตท.สำรวจแลผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) อาจจะมีคุณสมบัติที่ไม่เหมาะสม โดยมีส่วนเกี่ยวข้องเรื่องการค้าน้ำมันเถื่อนและสินบนชิ้นส่วนอุปกรณ์โรลส์-รอยซ์ (Rolls-Royce) เรื่องนี้อยู่ในกระบวนการตรวจสอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากจะไปกล่าวหา และตัดโอกาสให้บริษัทที่ช่วยสร้างความมั่นคงด้านพลังงานมาอย่างยาวนานไม่ให้เข้าร่วมประมูลคงไม่ถูกต้อง ที่สำคัญข้อกล่าวหานี้ก็ไม่ได้ขัดต่อคุณสมบัติการประมูลแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ผู้ที่ผ่านคุณสมบัติที่จะเข้าร่วมประมูลแหล่งเอราวัณ 4 ราย ได้แก่ 1.เชฟรอน 2. ปตท.สผ. 3. มูบาดาลา และ 4. โททาล ส่วนแหล่งบงกช 3 ราย ได้แก่ 1.เชฟรอน 2.ปตท.สผ. 3.มูบาดาลา ดังนั้น คงจะต้องติดตามว่าสุดท้ายจะมีการยื่นประมูลแต่ละแหล่งเป็นอย่างไรที่ชัดเจนในวันที่ 25 กันยายนนี้ . -สำนักข่าวไทย
