สธ.16ก.ย.-กรมสุขภาพจิตห่วงผู้ชอบโพสต์ภาพเซลฟี่ใช้แอพเติมแต่งความสวย สดใสก่อนโพสต์ หวังเรียกความเชื่อมั่นจากยอดไลค์ เสี่ยงเป็นคนขาดความเชื่อมั่นในโลกความจริง โดยเฉพาะวัยรุ่นส่งผลต่อการพัฒนาตัวเอง ขาดภาวะการเป็นผู้นำ จิตแพทย์แนะ 5 ข้อผู้ปกครองใช้สอนลูกหลาน ‘ยอมรับความแตกต่าง-ฝึกรู้จักใช้เวลาในโลกออนไลน์ สำคัญคือเป็นตัวอย่างที่ดี’
น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ว่า มีความเป็นห่วงพฤติกรรมการเซลฟีของประชาชนในสังคมออนไลน์ กำลังกลายเป็นพฤติกรรมเคยชิน ซึ่งเป็นการสื่อสารแสดงออกถึงตัวตนบุคคลโดยถ่ายรูปตนเองในอิริยาบถต่าง ๆ แล้วแชร์ภาพ เผยแพร่ในเครือข่ายสังคมออนไลน์ ซึ่งการเซลฟีนั้น มีความสำคัญกับความคิดในเรื่องตัวตนมาก มีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตและความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง โดยหากเซลฟีในลักษณะเหมาะสมคือไม่หวังผลจะไม่มีผลเสียอะไร เก็บไว้เป็นความประทับใจได้ แต่หากเซลฟีมีความถี่มากเพื่อให้เพื่อนๆมากดไลค์หรือเขียนข้อความแสดงความเห็นต่างๆ จนเกิดการหมกมุ่น อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น หรือความมั่นใจในตัวเอง หากโพสต์รูปตัวเองไปแล้วและได้รับการตอบรับน้อย คนกดไลค์น้อย ไม่เป็นไปตามคาดหวังและโพสต์ใหม่ก็ยังไม่ได้รับการตอบรับ จะส่งผลให้บุคคลนั้นขาดความมั่นใจและอาจไม่ชอบ ไม่พอใจรูปลักษณ์ตัวเอง เกิดความกังวล ชีวิตไม่มีความสุข เมื่อสะสมไปเรื่อยๆ ก็อาจทำให้เกิดความผิดปกติทางจิตใจและอารมณ์ได้ง่าย เช่น หวาดระแวง เครียด ซึมเศร้า เป็นภัยเงียบที่น่าเป็นห่วง
‘หากเป็นเยาวชน วัยรุ่น จะมีผลกระทบต่ออนาคตได้ เด็กที่ขาดความมั่นใจในตัวเองจะมีผลให้พัฒนาตัวเองยากขาดภาวะการเป็นผู้นำซึ่งมีความ สำคัญมากในการใช้ชีวิตทั้งการทำงาน ครอบครัว โอกาสที่จะคิดพัฒนานวัตกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ จึงเป็นไปได้ยากขึ้น มีผลต่อการพัฒนาประเทศในอนาคตอย่างคาดไม่ถึง’อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว
พญ.กุสุมาวดี คำเกลี้ยง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น กล่าวว่าการถ่ายภาพเซลฟี่เปรียบเสมือนการได้ส่องกระจก พฤติกรรมถ่ายเซลฟี่ที่น่าเป็นห่วงมี 2 ประการ 1.ถ่ายเซลฟีร่วมกับการใช้แอพลิเคชั่นแต่งเติมหน้าตัวเองให้ดูดี มีสีสันสดใสขึ้นตามความต้องการ เช่นตาดำโต หน้าเรียว แก้มชมพูปากแดง ซึ่งขณะนี้กำลังได้รับความนิยมมากทั้งไทยและต่างประเทศ จัดเป็นภาพตัวตนในอุดมคติ ไม่ใช่ตัวตนแท้จริง จะเป็นการหลอกทั้งตัวเองและหลอกคนอื่น หากใช้บ่อยจะมีผลทำให้ขาดความมั่นใจในการเผชิญหน้าจริงกับผู้คนที่เป็นเพื่อนในโลกโซเชียลหรือเผชิญโลกแห่งความเป็นจริง อาจจะเกิดการยอมรับความจริงไม่ได้
2.การใช้แอพถ่ายเซลฟีบ่อยถี่จนเกินไป อาจเป็นสัญญาณ ของผู้ที่หมกมุ่นไม่พึงพอใจรูปร่างหน้าตาของตนเองมากผิดปกติ เรียกว่ากลุ่มอาการบีดีดี (Body Dysmorphic Disorder:BDD) คนกลุ่มนี้จะนิยมใช้แอพถ่ายภาพเซลฟี่เพราะภาพสามารถตอบโจทย์ ใช้ตรวจสอบรูปร่างหน้าตาของตัวเองได้บ่อยตามต้องการ อาจมีพฤติกรรมหมกมุ่นไม่พอใจรูปร่างหน้าตาตัวเองและใช้แอพเซลฟีตลอดเวลา จนอาจเสียการเสียงานบางกรณีถึงขั้นหลุดจากโลกความเป็นจริงถึงขั้นไม่สามารถใช้ชีวิตแบบคนปกติได้
“สังคมออนไลน์มีส่วน ทำให้คนมีโอกาสได้เห็นหน้าตาตัวเองบ่อยขึ้นกว่าแต่ก่อน ทำให้เกิดความระแวงในหน้าตาตัวเองว่าจะสวยหรือหล่อหรือไม่ แต่การเซลฟีที่ถี่มากเกินไปอาจสะท้อนถึงความกังวลและความไม่มั่นใจในตัวเองและอาจเป็นตัวกระตุ้นหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่าต้องทำให้ตัวเองสวยสร้างความมั่นใจตัวเองหลายคนอาจตัดสินใจทำศัลยกรรมใบหน้าให้หน้า ตาสวยเข้ารูป หรือทำให้สวยเหมือนในภาพเซลฟีที่ใช้โปรแกรมตกแต่งเพิ่ม ทำให้ตัวเองพอใจ คนอื่นยอมรับ” พญ.กุสุมาวดีกล่าว
พญ.กุสุมาวดี กล่าวด้วยว่า สำหรับวิธีการป้องกันลูกหลานเสพติดเซลฟี และการสร้างความมั่นใจในตัวเองบนโลกแห่งความเป็นจริง มีคำแนะนำผู้ปกครอง 5 ประการ 1. สอนเด็กให้มองและยอมรับในความแตกต่างของคนที่ไม่เท่ากันไม่เหมือนกัน ข้อนี้สำคัญมากเพื่อเด็กจะได้เข้าใจ ไม่นำตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น 2.ควรเลี้ยงดูบุตรหลาน โดยให้ความรัก ความอบอุ่น เด็กจะให้ความสำคัญกับคนรอบข้างที่เป็นสิ่งแวดล้อมจริงในชีวิตประจำวัน รวมถึงให้คำแนะนำการใช้โลกออนไลน์และเซลฟีให้เหมาะสม ถูกเวลา 3. ฝึกเด็กให้รู้จักระเบียบวินัย รู้จักควบคุมตัวเองในการใช้เวลาในโลกออนไลน์ ประการสำคัญผู้ปกครองต้องเป็นตัวอย่างที่ดีในการควบคุมพฤติกรรมการถ่ายเซลฟี่ของตนเอง 4.สอนให้เด็กรู้จักคบเพื่อนในโลกแห่งความเป็นจริง ฝึกทักษะทางสังคมเช่นการยิ้ม การชื่นชมคนอื่น สอนการแบ่งปัน และ 5.ฝึกให้เด็กมีเอกลักษณ์เป็นของตนเองในโลกแห่งความเป็นจริง โดยชวนทำกิจกรรมร่วมกับคนในครอบครัว เช่นออกกำลังกาย ดูหนัง ฟังเพลง ทำงานศิลปะ ทำอาหาร ทำงานบ้าน หรือจิตอาสาอื่นๆ เพื่อให้เด็กมองเห็นคุณค่าและเกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง .-สำนักข่าวไทย