สมุทรปราการ 6 ก.ย. – กพร.เปิดศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิล โชว์สกัดทองคำ ทองแดง จากขยะอิเล็กทรอนิกส์
นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลแห่งแรกในประเทศไทยของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ที่อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ศูนย์แห่งนี้มีศักยภาพในการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยสามารถสกัดโลหะมีค่า เช่น แร่ทองคำออกมาได้ ซึ่งเป็นตัวอย่างหนึ่งของการแยกสกัดแร่และโลหะมีค่านำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ โดยเฉพาะโลหะที่ไทยมีแหล่งทรัพยากรธรรมชาติจำกัด เช่น ทองคำ เงิน แพลทินัม แพลเลเดียม โรเดียม นีโอดีเมียม ลิเทียม ทองแดง อะลูมิเนียม เป็นต้น
ปัจจุบัน กพร.มีเทคโนโลยีรีไซเคิลขยะหรือของเสียทั้งจากภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม รวม 79 ชนิด ในจำนวนนี้ 49 ชนิด พัฒนาเป็นเทคโนโลยีรีไซเคิลต้นแบบของ กพร. ซึ่งผ่านการพิสูจน์ความเป็นไปได้ทางเทคโนโลยีแล้ว และมีศักยภาพในการถ่ายทอดเทคโนโลยีทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติให้แก่ผู้ประกอบการ เพื่อผลักดันให้ขยะหรือของเสียกลายเป็นแหล่งทรัพยากรทดแทนของภาคอุตสาหกรรมได้อย่างเป็นรูปธรรมเช่นเดียวกับประเทศที่พัฒนาแล้วดำเนินการอยู่ ทั้งนี้ กพร.มีเป้าหมายพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลขยะหรือของเสียไม่น้อยกว่า 8 ชนิดต่อปี โดยระยะแรกของการดำเนินงานคาดว่าจะก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มในประเทศจากการลงทุนหรือการรีไซเคิลขยะหรือของเสียเป้าหมาย 200–250 ล้านบาทต่อปี ซึ่งยังช่วยแก้ไขปัญหาการจัดการขยะของประเทศด้วย
นายสมชาย กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาจัดการขยะในประเทศที่มีปริมาณเฉลี่ยกว่า 50 ล้านตันต่อปี หากมีระบบบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพและครบวงจร เช่น การนำมารีไซเคิล ก็จะเป็นแหล่งทรัพยากรทดแทนสำคัญของประเทศได้ เช่น ประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศไม่มีแหล่งแร่ธรรมชาติ ส่วนรูปแบบดำเนินการจะต้องรอพระราชบัญญัติการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์และซากผลิตภัณฑ์อื่น พ.ศ. …. ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อยู่ชั้นการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
สำหรับขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยใช้แล้วทิ้งปีละประมาณ 400,000 ตัน มีการนำมารีไซเคิลและยังเก็บไว้ที่บ้านอย่างละประมาณกว่า 100,000 ตัน ที่เหลืออีกประมาณกว่า 100,000 ตันนำไปฝังนำไปบำบัด ทั้งหมดนี้แม้เป็นขยะอุตสาหกรรม แต่เป็นขยะชุมชนที่บ้านเรือนและสถานประกอบการต่าง ๆ เป็นผู้ทิ้ง ส่วนพลาสติกมีการทิ้งปีละประมาณ 2 ล้านตัน บำบัดจัดการผ่านการนำกลับมาใช้ใหม่หรือผ่านกระบวนการรีไซเคิลประมาณปีละ 500,000 ตัน อีก 1.5 ล้านตัน กระจายไปที่ต่าง ๆ เช่น ตามแม่น้ำลำคลองหรือนำไปฝังกลบ เผา เป็นต้น แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีความเป็นห่วงและรับนโยบายจากนายกรัฐมนตรีในอีก 1-2 เดือนข้างหน้าอย่างน้อยจะต้องมีแผนสำหรับปี 2562 ออกมา ส่วนกระทรวงอุตสาหกรรมจะดูแลด้านการรีไซเคิลให้ดีที่สุด
ส่วนการนำขยะหรือของเสียทั้งจากภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม รวมถึงผลพลอยได้ จากกระบวนการผลิต กลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ หรือที่เรียกกันในหลายประเทศว่า “การทำเหมืองแร่ในเมือง” เพื่อเป็นแหล่งทรัพยากรทดแทนให้แก่ภาคอุตสาหกรรม ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติใหม่ ลดการเกิดขยะและปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ การขับเคลื่อนสู่ Zero Waste Society และ Circular Economy
สำหรับศูนย์วิจัยฯ แห่งนี้ เกิดจากการต่อยอดและขยายผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของ กพร. โดยเฉพาะการพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลต้นแบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาเป็นศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลของภาครัฐแห่งแรกในประเทศไทย และเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต (Industry Transformation Center, ITC) ด้านเทคโนโลยีรีไซเคิลและนวัตกรรมวัตถุดิบของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยเน้นให้บริการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทั้งระดับห้องปฏิบัติการ (Lab scale) และระดับโรงงานต้นแบบ (Pilot scale) รวมทั้งฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการถ่ายทอดเทคโนโลยีทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติให้แก่ผู้ประกอบการ เพื่อผลักดันเทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่การผลิตในเชิงพาณิชย์ สร้างผู้ประกอบการที่มีกระบวนการรีไซเคิลที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยจะเป็นต้นแบบให้ผู้ประกอบการรีไซเคิลศึกษาเรียนรู้กระบวนการรีไซเคิลและการจัดการมลพิษที่เกิดขึ้นอย่างครบวงจร ถูกต้องตามหลักวิชาการ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นอีกหนึ่งกลไกในการแก้ไขปัญหาการจัดการขยะและมลพิษของประเทศ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ที่มีใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุดอย่างเป็นรูปธรรม สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาประเทศอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
ในวันนี้ ( 6 ก.ย.) กพร.และบริษัท เอสซีจี ซิเมนต์ จำกัด ได้ลงนามความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมวัตถุดิบเพื่ออุตสาหกรรมระยะที่ 1 จะศึกษาพัฒนาคุณภาพกลุ่มแร่หินปูนให้มีมูลค่าสูงขึ้น เพื่อให้สามารถนำไปเป็นวัตถุดิบคุณภาพสูงในอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมยา และอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ และจะมีการพัฒนาแร่อีก 3 ชนิด ได้แก่ แร่ยิปซัม จะพัฒนาเพื่อนำไปในใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหาร แร่บอลเคลย์ จะพัฒนาเป็นวัตถุดิบคุณภาพสูงสำหรับอุตสาหกรรมผลิตโพลิเมอร์และเคมีภัณฑ์ และแร่ไดอะตอมไมต์ จะพัฒนาเป็นวัตถุดิบคุณภาพสูงสำหรับอุตสาหกรรมเซรามิก. -สำนักข่าวไทย