รัฐสภา 21 ก.ค. – สว.พันธุ์ใหม่ ดิ้นสู้ เสนอญัตติชะลอเลือก กกต.-ตุลาการศาล รธน. สุดท้ายที่ประชุมวุฒิสภาไม่เห็นด้วย “เทวฤทธิ์” เผยเสียงข้างมากหวั่นผิด ป.อาญา มาตรา 157 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ยืนยันไม่ยื่นขออำนาจองค์กรอิสระสั่ง สว.ยุติเลือก
การประชุมวุฒิสภา ที่มีนายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม พิจารณาญัตติด้วยวาจา เป็นเรื่องด่วน ของนายเทวฤทธิ์ มณีฉาย สว. ขอให้วุฒิสภาชะลอกระบวนการเลือกและให้ความเห็นเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแห่งตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และการให้ความเห็นชอบของผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยในคดีฮั้วเลือกตั้ง สว.ที่สมาชิกจำนวนอย่างน้อย 2ใน 3 ของสมาชิกทั้งหมด ตกเป็นคู่กรณี ไม่ว่าจะเป็นผู้ร้องหรือผู้ถูกร้องในองค์กรเหล่านี้
โดยเป็นการประชุมลับโดยใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ปรากฏว่า ที่ประชุมมีมติไม่เห็นด้วย 130 เสียง เห็นด้วย 7 เสียง งดออกเสียง 13 เสียง เป็นอันว่าที่ประชุมลงมติไม่เห็นชอบให้วุฒิสภาชะลอกระบวนการเลือกและให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย
จากนั้นที่ประชุมประชุมวุฒิสภาเห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดิน จำนวน 15 คน กำหนดระยะเวลาดำเนินงาน 60 วัน
ด้านนายเทวฤทธิ์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังที่ประชุมวุฒิสภา มีมติเสียงข้างมาก ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าวว่า เป็นไปตามที่นายพิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะโฆษกวิปวุฒิสภา ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนไปก่อนหน้าที่ ที่กังวลว่า หากวุฒิสภา ชะลอการพิจารณา อาจเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานะละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบได้ ซึ่งตนเองก็ไม่ได้เห็นด้วย เพราะการจะผิดตามมาตรา 157 นั้น จะต้องพิจารณาถึงเจตนาประกอบด้วย และข้อเสนอของตนเองนั้น เพื่อเป็นการป้องกันการขัดกันของผลประโยชน์ รวมถึงไม่ได้เป็นข้อเสนอใหม่ เพราะเมื่อการตรวจสอบประวัติ และจริยธรรมของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ กรรมการ ป.ป.ช.ของคณะกรรมาธิการฯ เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ก็มีกรรมาธิการฯ ขอลาออกจำนวน 13 คน เนื่องจาก กังวลผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะมีการยื่น ป.ป.ช.ตรวจสอบจริยธรรมพันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รวมถึงพันตำรวจตรียุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI ในการพิจารณาคดีฮั้ว สว.
ส่วนหลังจากนี้ จะมีการนำหลักฐานการพิจารณาคดีฮั้ว สว.ต่าง ๆ ยื่นต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้วุฒิสภา ได้ชะลอการเลือกกรรมการองค์กรอิสระอีกครั้งหรือไม่นั้น นายเทวฤทธิ์ ระบุว่า ตนเองไม่เห็นด้วยกับกระบวนการใช้กรรมการองค์อรอิสระ จึงขอเสนอเพียงการใช้กลไกให้วุฒิสภาได้พิจารณากันเอง.-319 -สำนักข่าวไทย