รัฐสภา 21 ก.ค.-“ชูศักดิ์” ยอมรับ รธน.ใหม่อาจคลอดไม่ทันรัฐบาลชุดนี้ แจงยังรอคำวินิจฉัยศาล รธน.ก่อน หวังได้ตั้ง สสร.ทันก่อนรัฐบาลหมดวาระ
นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตอบกระทู้ถามนายเทวฤทธิ์ มณีฉาย สมาชิกวุฒิสภา ถึงแนวทางความชัดเจน และกรอบเวลาของรัฐบาลในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามนโยบายของรัฐบาล โดยชี้แจงว่า ปัญหาใหญ่ของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เป็นเพราะการไปต่อไม่ได้ เพราะความขัดแย้งแนวคิดว่า จะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างไร และทำประชามติกี่ครั้ง ที่ยังสับสนระหว่าง 2 หรือ 3 ครั้ง ตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ที่ค้ำคอไว้อยู่ ดังนั้น รัฐบาลเศรษฐา จึงตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง จนมีข้อสรุปให้ทำประชามติ 3 ครั้ง และต้องแก้ไขกฎหมายประชามติให้ใช้แบบเสียงข้างมากชั้นเดียว พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาชน จึงมีการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา
ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตรัฐบาลนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เหตุใดถึงไม่มีการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจากคณะรัฐมนตรีนั้น นายชูศักดิ์ ชี้แจงว่า เนื่องจาก ยังไม่มีข้อยุติจำนวนครั้งการประชามติแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐสภาที่ผ่านมา สั่งไม่บรรจุเข้าวาระการประชุม เพราะความไม่ชัดเจน จนมีการไปพิจารณาคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่พบว่า เสียงข้างมากให้จัดการออกเสียงประชามติ 2 ครั้ง นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา จึงกลับมติให้บรรจุได้ แต่ก็ยังมีหนังสือท้วงติงจากวุฒิสภา ซึ่งในมุมคณะรัฐมนตรี มองว่า การเสนอกฎหมายใหม่ ๆ จะต้องมีความแน่นอน และชัดเจน ถ้าไม่ผ่าน หรือมีปัญหาในทางกฎหมาย ก็จะเกิดปัญหาอีกครั้ง ซึ่งตนเองเป็นผู้เสนอคณะรัฐมนตรี ไม่ให้เสนอเอง และให้เสนอในนามพรรคการเมืองแทน เพราะความตีความประชามติยังไม่สิ้นสุด กระบวนการศาลรัฐธรรมนูญ ก็ยังอยู่ระหว่างการสอบสวนพยานจากผู้เชี่ยวชาญยังไม่มีคำวินิจฉัย จึงทำให้เรื่องคาราคาซัง
นายชูศักดิ์ ยังยืนยันว่า รัฐบาลยังมีความแน่วแน่ในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เกิดขึ้นให้ได้ แต่ก็ยังมีปัญหาและอุปสรรคอยู่ ซึ่งตนเองก็รับทราบในปัญหาของรัฐธรรมนูญ 2560 โดยเฉพาะการถ่วงดุลอำนาจ และที่มา สว.เพียงแต่ว่า เงื่อนไขต่าง ๆ ยังมีอุปสรรค จึงยังต้องรอผลคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากมีคำวินิจฉัยให้จัดการออกเสียงประชามติ 2 ครั้ง กระบวนการที่ค้างอยู่ ก็สามารถเดินต่อไปในการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาชนได้ แต่ตนก็ยังวิตก เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ กำหนดประบวนการแก้ไขที่เหมือนไม่อยากให้แก้ เช่น การกำหนดเงื่อนไขเสียงในการแก้ไข เช่น การกำหนดเสียง สว. 1 ใน 3 ซึ่งหากถึงเวลานั้น ก็ต้องขอความร่วมมือวุฒิสภาร่วมแก้ไข และตนก็ยังวิตก และอาจจะถูกตีตกในชั้นนั้นก็ได้
ส่วนความเป็นไปได้ในการจัดการออกเสียงประชามติ 3 ครั้ง โดยไม่ต้องรอคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ แต่ให้ดำเนินการประชามติ 3 ครั้งเลย โดยครั้งแรกให้จัดประชามติ ไปพร้อมกับการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น เพื่อให้เกิดความชัดเจนนั้น นายชูศักดิ์ ชี้แจงว่า หากจะดำเนินการแบบดังกล่าวแล้ว รัฐบาลจะสอบถามศาลรัฐธรรมนูญไปทำไม ซึ่งจะเป็นการกลับไปกลับมา ดังนั้น เมื่อสอบถามไปแล้ว ก็ควรรอคำวินิจฉัย เพราะการจัดการออกเสียงประชามติแต่ละครั้ง ต้องใช้เงินไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาทต่อครั้ง และด้วยสภาพเศรษฐกิจเช่นนี้ด้วย ฉะนั้น ความตั้งใจของรัฐบาล ต้องการรอดูผลคำวินิจฉัยของศาล และไม่อยากให้ไม่สำเร็จ ความไม่แน่ใจต่าง ๆ ต้องไม่ทำ และทำในสิ่งที่แน่ใจ เพื่อให้กระบวนการไปต่อไป
นายชูศักดิ์ ยังยอมรับว่า รัฐบาลบริหารมา 2 ปีแล้ว และเหลือเวลาไม่นานจะครบวาระ เมื่อตนคำนวณไทม์ไลน์ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 คาดว่า ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 6 เดือน รวมทั้งยังต้องจัดการออกเสียงประชามติ ที่จะต้องใช้เวลาอีก 3-4 เดือน และยังต้องเลือก สสร. 6 เดือนเป็นอย่างต่ำหลังประชามติเสร็จสิ้น จึงยอมรับว่า พิจารณาจากไทม์ไลน์แล้ว ยากลำบากที่จะจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ให้สำเร็จบริบูรณ์ 100 เปอร์เซ็นต์ ในรัฐบาลชุดนี้ แต่รัฐบาลก็ตั้งใจว่า อย่างน้อยเมื่อมีข้อยุติในหลายประเด็นแล้ว ก็เดินหน้าต่อไปอย่างน้อยให้สามารถตั้ง สสร.มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไว้ก็จะเป็นการดี.-312.-สำนักข่าวไทย