กรุงเทพฯ 29 ส.ค. – รมว.เกษตรฯ เตรียมแต่งตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์ เพื่อออกกฎกระทรวงควบคุมการทำธุรกรรมการเงิน ซึ่งที่ผ่านมากฎหมายควบคุมไม่ถึงจนหลายสหกรณ์ขาดสภาพคล่อง เป็นหนี้ และมีการทุจริต
นายกฤษฏา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารจัดการและกำกับดูสหกรณ์ออมทรัพย์ กล่าวว่า กำลังเร่งหามาตรการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ ได้มอบหมายให้กระทรวงดำเนินการ เนื่องจากสหกรณ์ออมทรัพย์อยู่ภายใต้การกำกับของกรมส่งเสริมสหกรณ์
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบสหกรณ์ออมทรัพย์ประมาณ 1,400 แห่ง พบว่าหลายแห่งประสบปัญหาการบริหารการเงิน ทั้งนี้ พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 ให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ในฐานะนายทะเบียนทำหน้าที่สร้างความเข้มแข็งให้กับสหกรณ์ แต่กฎหมายสหกรณ์ไม่ทันต่อความผันผวนทางการเงินในปัจจุบัน นายกรัฐมนตรีจึงให้คณะกรรมการที่ปรึกษาฯ ประกอบด้วย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กระทรวงการคลังมาเร่งรัดแก้ไข ซึ่งวันนี้ (29 ส.ค.) อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์จะเสนอรายชื่อผู้ที่มีความเหมาะสมมาให้พิจารณาแต่งตั้งเป็นคณะอนุกรรมการศึกษาดูแลกิจการสหกรณ์ออมทรัพย์
นายกฤษฎา กล่าวว่า ธุรกรรมการเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์กว่า 1,400 แห่ง มีวงเงินมากถึง 2.2 ล้านล้านบาท สาเหตุที่เงินจำนวนมากไหลเข้าสู่ระบบสหกรณ์ออมทรัพย์มาก เนื่องจากธนาคารพานิชย์และสถาบันการเงินต่าง ๆ ให้ดอกเบี้ยเงินฝากต่ำไม่เกินร้อยละ 1- 2 ส่วนสหกรณ์ออมทรัพย์ให้สูงถึงร้อยละ 3-4 สหกรณ์ออมทรัพย์นำเงินฝากเหล่านี้มาแสวงหากำไรในหลายรูปแบบ เช่นปล่อยกู้สมาชิก และนำเงินไปฝากสหกรณ์อื่นในเครือข่ายนำไปปล่อยกู้กัน รวมยอดสหกรณ์กู้กันเองกว่า 1.99 ล้านล้านบาท อีกส่วนหนึ่งนำไปซื้อพันธบัตรและลงทุนในตลาดทุนกว่า 400,000 ล้านบาท แต่เมื่อตรวจสอบพบว่ายอดเงินฝากกับยอดหนี้ใกล้เคียงกัน หากสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครติดยูเนี่ยนไม่สามารถรักษาเสถียรภาพทางการเงินได้ เกรงว่าเงินจำนวนมากที่เสียหายนี้จะส่งผลกระทบถึงระบบการเงิน การคลังของประเทศ
สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ การทำธุรกรรมของสหกรณ์ออมทรัพย์ โดยการปล่อยกู้เพื่อหากำไรจากดอกเบี้ยเงินกู้เช่นเดียวกับธนาคาร แต่ธนาคารและสถาบันการเงินต่าง ๆ ควบคุมด้วยเครดิตบูโร ซึ่งจะตรวจสอบสถานะทางการเงินของผู้กู้ทุกรายก่อนปล่อยกู้ แต่สหกรณ์ไม่เข้าระบบเครดิตบูโร จึงไม่สามารถตรวจสอบหนี้ก่อนปล่อยกู้ให้สมาชิกได้ อีกทั้งส่วนใหญ่กู้ไปหมุนเวียนใช้สอยส่วนตัวไม่ใช่กู้ต่อยอดไปทำธุรกิจ
นายกฤษฎา กล่าวว่า เมื่อแต่งตั้งคณะอนุกรรมการศึกษากิจการสหกรณ์ออมทรัพย์แล้วจะเร่งกำหนดหลักเกณฑ์กำกับดูแลกิจการสหกรณ์ออมทรัพย์ให้เสร็จภายใน 30 วัน ซึ่งมีตัวแทนจากทุกหน่วยงานเกี่ยวข้องและมีสันนิบาตรสหกรณร่วมด้วย หลังจากได้ผลศึกษานำเข้าคณะกรรมการฯ เพื่อออกเป็นกฎกระทรวงเกษตรฯ อาศัยตามอำนาจในพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 ทั้งนี้ รัฐบาลให้ออกเกณฑ์กำกับสหกรณ์ตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลังกำกับธนาคารพาณิชย์ ที่ผ่านมากรมส่งเสริมสหกรณ์ออกเกณฑ์กำกับส่งให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้ว แต่ยังไม่รัดกุมเท่าที่ควร จึงให้กระทรวงเกษตรฯ มากำหนดเกณฑ์เพิ่มเติม โดยจะออกเป็นกฎกระทรวงเกี่ยวกับเกณฑ์กำกับในเรื่องการระดมเงินฝาก นำเงินฝากไปลงทุน เกณฑ์การให้สมาชิกกู้ การจ่ายเงินปันผล การจ่ายโบนัส ทั้งนี้ รัฐบาลมีความกังวลที่กฎหมายสหกรณ์ตามสภาพเศรษฐกิจไม่ทัน หากการบริหารสะดุดจนขาดสภาพคล่องก็เสี่ยงจะล้มเป็นลูกระนาด เนื่องจากมีการกู้ในกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์กันเองและจะส่งผลกระทบต่อระบบการเงิน การคลังทั้งระบบ
นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า วันนี้จะเสนอรายชื่อคณะอนุกรรมการศึกษาการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณา พร้อมกันนี้ทางกรมกำลังจัดทำรายละเอียดมาตรการกำกับดูแลที่จะออกเพิ่มเติม ได้แก่ เกณฑ์กำหนดให้สหกรณ์ออมทรัพย์ทุกแห่งตั้งงบเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ เพื่อป้องกันการระดมเงินฝากไปปล่อยเงินกู้ โดยไม่ดูคุณสมบัติผู้กู้ สมาชิกบางรายก่อหนี้จำนวนมากพอเกษียณโดนหักเงินจนไม่พอยังชีพ
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลด้านสินเชื่อทั้งระบบของสหกรณ์ พบว่ามีหนี้เสียเพียงร้อยละ 0.4 แต่มีหลายแห่งที่มีปัญหาสภาพคล่อง เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟ เกิดคดีไซฟอนเงินปล่อยกู้ผิดปกติ 2,200 ล้านบาท ซึ่งมีเจ้าหนี้กว่า 10 รายเป็นสหกรณ์ที่นำเงินมาฝาก สหกรณ์ออมทรัพย์ครูมีปัญหาซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลมาขายกว่า 8,000 ล้านบาท ได้ฟ้องร้องกรรมการติดคุกยึดทรัพย์คืนมาได้เพียงครึ่งเดียว สหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจ จังหวัดเลย อดีตประธานชักชวนให้สมาชิกกู้กว่า 192 ล้านบาท ซึ่งสหกรณ์เหล่านี้ต้องใช้เวลาแก้ไขดำเนินคดี ยึดทรัพย์นำเงินมาคืน แต่ส่วนใหญ่คืนไม่คุ้มยอดหนี้ ขณะนี้ที่หนักสุด คือ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จากคดีฟอกเงิน ขณะนี้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ปล่อยทรัพย์มาให้ 4 งวด และได้เงินคืนจากวัดพระธรรมกาย สามารถคืนเงินให้สมาชิกร้อยละ 20 ร่วม 2,000 ล้านบาท จากยอดหนี้ 15,000 ล้านบาท ทำแผนชำระหนี้ใน 26 ปีตามแผนฟื้นฟู
อีกแห่งเกิดคดีไซฟอนเงิน วงเงิน 5,500 ล้านบาท ของชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์ธนกิจไทย และมี 14 สหกรณ์เจ้าหนี้นำเงินมาฝาก โดยสหกรณ์ออมพรัพย์ธนกิจไทยนำเงินฝากไปปล่อยกู้ให้แก่สหกรณ์ออมทรัพย์เคหะนพเกล้าแล้วนำไปซื้อที่ดินซึ่งปั่นราคาเกินจริงถึง 4,000 ล้านบาท ปรากฎว่าที่ดินดังกล่าวและอาคารในเมืองทองธานีมีมูลค่าจริงเพียง 700 ล้านบาท ซึ่งแนวทางแก้ไขจะสั่งให้สหกรณ์จังหวัดนนทบุรี ออกคำสั่งให้ปีบัญชีนี้ตั้งเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ติดลบขาดทุน 3,800 ล้านบาท แต่สหกรณ์ธนกิจยังไม่ตั้งหนี้สงสัยจะสูญ เพราะยืนยันว่าจะนำที่ดินไปขายได้
สำหรับการแก้หนี้สโมสรรถไฟวันที่ 31 สิงหาคมจะเลือกตั้งกรรมการชุดใหม่แทนชุดชั่วคราว โดยกรมจะติดตามแก้หนี้ให้เสร็จโดยเร็วที่สุด ปัญหาของสหกรณ์ออมทรัพย์ที่จะล้มหลายแห่งส่วนใหญ่มาจากมาตรการหละหลวมของระดับนโยบายในอดีต ช่วงปี 2552-2553 ต้องการให้กรรมการบริหารงานสหกรณ์อิสระตรวจสอบกันเอง ซึ่งจำเป็นต้องมีมาตรการกำกับดูแลที่เข้มงวดขึ้น.-สำนักข่าวไทย