กรุงเทพฯ 27 ส.ค. – ภาครัฐ-ธุรกิจพลังงานเตรียมความพร้อมรับมือผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีจะเกิดขึ้นในอนาคต
นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานเปิดงานเสวนาวิชาการ “โฉมหน้าพลังงานไทย : ยุค Disruptive Technology” จัดโดยชมรมวิทยาการพลังงานและชมรมวิทยาการพลังงานรุ่นใหม่ กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีพัฒนาไปอย่างรวดเร็วเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต จึงต้องปรับตัวโดยผสมผสานเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ ที่จะนำไปสู่นวัตกรรมใหม่ ๆ การเร่งพัฒนาเปลี่ยนแปลงระบบพลังงาน สู่ระบบดิจิทัลและระบบพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) ควบคู่กับการวางแผนพลังงานให้มีใช้ได้ตามต้องการอย่างมั่นคงและยั่งยืน ขณะที่ความคืบหน้าการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) ฉบับใหม่ ปี 2560 – 2579 หรือ PDP 2018 คาดเสร็จตามกำหนดภายในเดือนกันยายนตามกำหนดการแน่นอน
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ความต้องการใช้พลังงานน้ำมันในอนาคตยังมี ส่วนเทรนด์รถยนต์ไฟฟ้า (EV) อาจจะยังไม่ได้รับความนิยมภายในระยะเวลาอันใกล้ เพราะหลายประเทศรถ EV ยังนิยมใช้เพียงเขตเมืองเท่านั้น โดยทิศทางราคาไฟฟ้าในอนาคตต้องเป็นธรรม เข้าถึงได้ มีความมั่นคง ธุรกิจพลังงานต้องพร้อมปรับตัวอยู่เสมอ
ด้าน ปตท.จะเดินหน้าองค์กรด้วยกลยุทธ์ 3D คือ Do now เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ลดต้นทุนการผลิต Decide now การลงทุนเพื่อการเติบโต เพื่อตอบสนองความต้องการพลังงานสะอาด อาทิ โครงการขยายท่อส่งก๊าซ (แอลเอ็นจี) และคลังรับก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG Receiving Terminal) และโครงการพัฒนาพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ (EECi) เป็นต้น และ Design now มองหาธุรกิจใหม่ในอนาคต ลงทุนใน New S-Curve เพื่อการเติบโตระยะยาว ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของโลก เทคโนโลยีใหม่ พฤติกรรมผู้บริโภค แนวโน้มการใช้พลังงานสะอาด และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศตามนโยบาย Thailand 4.0
นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการนโยบายและแผน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า เทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนโลก หรือ Disruptive Technology ทำให้รูปแบบของการผลิตไฟฟ้าเปลี่ยนไปโดยอนาคตโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่จะลดลง มีโรงไฟฟ้าขนาดเล็กเข้ามาแทนที่ เพราะต้นทุนต่ำลงและจะมีกระจายแหล่งผลิตไฟฟ้าและศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้าไปสู่ชุมชน มีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เพิ่มมากขึ้นด้วย ด้านโรงไฟฟ้าอนาคตจะต้องมีความยืดหยุ่น สามารถเริ่มเดินเครื่องได้รวดเร็ว ส่วนในระบบส่งและจำหน่ายไฟฟ้าจะต้องพัฒนาสู่ระบบ Smart Grid ซึ่งทุกฝ่ายต้องวางแผนรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น
นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพา เวอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปี 2561 ปริมาณการใช้ไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรมสูงสุดถึงร้อยละ 47 ขยายตัวร้อยละ 0.2 เทียบกับปีที่ผ่านมา รองลงมา คือ ภาคธุรกิจ สัดส่วนร้อยละ 25 และภาคครัวเรือน สัดส่วนร้อยละ 24 ซึ่งการวางแผนผลิตไฟฟ้าในอนาคตควรผลิตตามสัดส่วนเชื้อเพลิง พร้อมจัดทำพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าแต่ละพื้นที่ควบคู่กับศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมถึงโครงการสำคัญในอนาคต ขณะที่ยอมรับว่ากฎระเบียบของภาครัฐยังเป็นข้อจำกัดของการดำเนินธุรกิจผู้ผลิตไฟฟ้าในบ้านเรา. – สำนักข่าวไทย