กรุงเทพฯ 16 มี.ค.- สนพ. เผยปี 2565 ภาคพลังงานไทย ปล่อยก๊าซ CO2 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเพียง 1.5% จากเศรษฐกิจประเทศจะปรับตัวดีขึ้น
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า ปี 2565 ประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) จากการใช้พลังงาน อยู่ที่ระดับ 247.7 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ร้อยละ1.5 โดยภาคส่วนที่มีการปล่อยก๊าซ CO2 เพิ่มขึ้น ประกอบด้วย ภาคขนส่ง และภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ขณะที่ภาคการผลิตไฟฟ้าและภาคอุตสาหกรรมปล่อยก๊าซ CO2 ลดลง ซึ่งสอดคล้องกับการใช้พลังงานของไทยที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย
ทั้งนี้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงาน GDP ปี 2565 ขยายตัวร้อยละ 2.6 โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นจากร้อยละ1.5 ในปี 2564 จากด้านการผลิตสาขาต่างๆที่ขยายตัว ซึ่งส่งผลต่อการปล่อยก๊าซ CO2 จากการใช้พลังงาน ดังนี้ ภาคการขนส่ง มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซ CO2 อยู่ที่ 79.6 ล้านตัน CO2 เพิ่มขึ้นมากที่สุด อยู่ที่ร้อยละ 14.9 เมื่อเทียบกับปีก่อน ขณะที่ภาคอุตสาหกรรม ปล่อยก๊าซ CO2 อยู่ที่ 66.5 ล้านตัน CO2 ลดลงร้อยละ6.7 ภาคการผลิตไฟฟ้า ปล่อยก๊าซ CO2 อยู่ที่ 87.9 ล้านตัน CO2 ลดลงร้อยละ 3.2 ส่วนภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ได้แก่ภาคธุรกิจและครัวเรือน มาจากการใช้น้ำมันสำเร็จรูปเพียงอย่างเดียว มีการปล่อยก๊าซ CO2 รวม 13.7 ล้านตัน CO2 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.4
สำหรับการปล่อยก๊าซ CO2 จากการใช้พลังงานแยกรายชนิดเชื้อเพลิงในปี 2565 พบว่า การปล่อยก๊าซ CO2 จากน้ำมันสำเร็จรูปมีสัดส่วนการปล่อยสูงที่สุดอยู่ที่ร้อยละ 42 รองลงมาคือ ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน/ลิกไนต์ มีสัดส่วนร้อยละ 30 และ 28 ตามลำดับ ทั้งนี้ การปล่อยก๊าซ CO2 จากการใช้น้ำมันสำเร็จรูปในปี 2565 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 14.2 ในขณะที่การปล่อยก๊าซ CO2 จากการใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์ และก๊าซธรรมชาติ ลดลงร้อยละ 9.0 และ 3.1 ตามลำดับ ซึ่งสอดคล้องกับปริมาณการใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์ และก๊าซธรรมชาติของประเทศไทยในปี 2565 ที่ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน
หากเปรียบเทียบการปล่อยก๊าซ CO2 ต่อการใช้พลังงานของประเทศไทยเทียบกับต่างประเทศ จากข้อมูลของInternational Energy Agency (IEA) ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า ในปี 2563 ประเทศไทยปล่อยก๊าซ CO2 ต่อการใช้พลังงานเฉลี่ย อยู่ที่ 2.03 พันตัน CO2 ต่อการใช้พลังงาน 1 KTOE ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก ภูมิภาคเอเชียประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศจีน ซึ่งอยู่ที่ 2.29 2.28 2.11 และ 2.90 พันตัน CO2 ต่อการใช้พลังงาน 1 KTOE ตามลำดับ จากการที่ประเทศไทยมีนโยบายด้านพลังงานที่คำนิงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียน ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยทำให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายการลดปลดปล่อยก๊าซ CO2 ตามเป้าหมายของการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศได้.-สำนักข่าวไทย