กรุงเทพฯ 22 ส.ค. – นักธุรกิจจีน 500 คน ลงพื้นที่อีอีซีดูลู่ทางลงทุนวันเสาร์ที่ 25 ส.ค.นี้ พร้อมลงนามเอ็มโอยูรวม 10 ฉบับ
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า วันเสาร์ที่ 25 สิงหาคมนี้ นายหวัง หย่ง มนตรีแห่งรัฐ สาธารณรัฐประชาชนจีน จะนำคณะเจ้าหน้าที่และนักธุรกิจจีนกว่า 500 คน ลงพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อไปดูลู่ทางการลงทุนในประเทศไทย ซึ่งนักลงทุนจีนสนใจศักยภาพของอีอีซีและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้ง 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมดิจิทัล หุ่นยนต์ การบิน ยานยนต์สมัยใหม่ การแพทย์ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และแสดงความจำนงที่จะร่วมลงทุนกับ EECd และ EECi มีการขับเคลื่อนสมาร์ทซิตี้
โอกาสนี้จะมีพิธีลงนามในบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) เพื่อความร่วมมือด้านต่าง ๆ ระหว่างหน่วยงานของไทยและจีน รวม 10 ฉบับ ขณะที่กระทรวงพาณิชย์จะจัดให้มีการจับคู่ธุรกิจระหว่างภาคเอกชนไทย-จีน สำหรับเอ็มโอยูที่ลงนามร่วมกัน ได้แก่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลกับบริษัท หัวเหว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ลงนามในการนำระบบ 5G มาทดสอบในพื้นที่อีอีซี, บีจีไอ-เซิน เจิ้น จำกัด กับสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เพื่อร่วมมือด้านพันธุ์วิศวกรรมในประเทศไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ลงนามความร่วมมือกับสภาธุรกิจไทยจีนในไทย ดำเนินการเชื่อมโยงการลงทุนไทย-จีน, บมจ.กสท โทรคมนาคม และบริษัท ซีเอซี เทเลคอม อินเตอร์เนชั่นแนล ลงทุนเคเบิ้ลสื่อสารใต้น้ำไทย-ฮ่องกง , สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลและสถาบันวิทยสิริเมธี ลงนามกับทัส-โฮลดิ้ง จำกัด พัฒนา “อีอีซี สตาร์ทอัพ ไซเบอร์พอร์ต” เป็นต้น
นายอุตตม กล่าวว่า ประเทศไทยจะใช้โอกาสนี้เชื่อมอีอีซี ที่มุ่งเน้นพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายกับนโยบายกับโครงการ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (One Belt, One Road) ของจีน และนโบบาย Made in China ด้วย โดยเน้นความร่วมมือพัฒนาบุคลากรไทยให้รองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายรวมถึงการบ่มเพาะธุรกิจ การสร้างนวัตกรรมและธุรกิจสร้างสรรค์ โดยเน้นฐานผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเป็นสำคัญ รวมถึงการสร้างความร่วมมือในการเชื่อมโยงระบบคมนาคมขนส่งไทย-จีน ที่ขณะนี้มีโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนอยู่แล้ว รวมถึงการเชื่อมต่อพื้นที่ตอนเหนือของประเทศไทยเข้ากับคุนหมิงตอนใต้ของจีนด้วย
“การเข้ามาลงทุนของจีนไม่เป็นการแผ่อิทธิพลของจีน แต่จะเป็นการเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายตามที่ประเทศไทยส่งเสริมและนักลงทุนที่มาเป็นกลุ่มนักลงทุนรายใหญ่ ซึ่งรัฐบาลไทยมีนโยบายชัดเจนไม่ให้การเข้ามาลงทุนของนักลงทุนจีนกระทบกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในประเทศไทย แต่จะเป็นความร่วมมือทางธุรกิจและไทยยังสร้างความเข้มแข็งแก่เอสเอ็มอี” นายอุตตม กล่าว
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายอีอีซี เปิดเผยว่า การเดินทางมาไทยของคณะเจ้าหน้าที่รัฐบาลและเอกชนจีนครั้งนี้ ถือเป็นการเดินทางมาประชุมและศึกษาดูงานในพื้นที่อีอีซี อย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก ส่วนเม็ดเงินลงทุนจากนักธุรกิจจีนนั้น เบื้องต้นถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่นักลงทุนจีนจะเข้ามาลงทุนในอีอีซี การลงทุนช่วงแรกจะไม่มากแต่อนาคตจะเพิ่มมากขึ้น
สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ไทยต้องการจากการดึงผู้ประกอบการขนาดใหญ่ของจีนเข้าลงทุนในไทย ได้แก่ รถยนต์ไฟฟ้าหรือ EV ซึ่งจีนมีความเชี่ยวชาญในการผลิตรถไฟฟ้าเช่น การรถบรรทุกและรถเมล์ไฟฟ้า และจีนยังมีความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมทางการแพทย์ที่ไทยต้องการดึงเข้ามาสร้างเมดิคัลฮับเช่นกันรวมถึงทางจีนยังสนใจลงทุนในการพัฒนาเมืองเก่าในอีอีซีให้เป็นสมาร์ทซิตี้ และการสร้างสมาร์ทซิตี้ใหม่เป็นต้น
นายอุตตม ยังกล่าวถึงการหารือกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงจังหวัดไอจิประเทศญี่ปุ่นวันนี้ (22 ส.ค.) ว่า จังหวัดไอจิเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมใหญ่ของบริษัท โตโยต้า บริษัทเดนโซ่ นับเป็นการสานต่อจากเดินทางเยือนญี่ปุ่นเมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมาที่หารือคอนเน็ตเต็ดอินดัสทรี ปัจจุบันนักลงทุนจากไอจิ กว่า 400 บริษัทลงทุนในไทยแล้ว โดย 1 ใน 3 ของการลงทุนญี่ปุ่นในไทยมาจากจังหวัดไอจิ
ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอให้สำนักงานรวบรวมข้อมูลการลงทุนในไทยที่ตั้งอยู่ภายในเจโทรกรุงเทพตั้ง “ไอจิ-ไทยแลนด์ อินดัสเทรียล อินโนเวชั่น เซ็นเตอร์” โดยใช้ศูนย์ ITC ที่กล้วยน้ำไทยเป็นศูนย์การเรียนรู้อุตสาหกรรม 4.0 แก่เอสเอ็มอีไทย เป็นศูนย์วิจัยและพัฒนา และเดินหน้าความร่วมมือเชื่อมโยงบริษัทญี่ปุ่นกับบริษัทไทยโดยตรงในพื้นที่อีอีซี ในลักษณะพื้นที่ต่อพื้นที่ หรือ Local-Local. -สำนักข่าวไทย