กรุงเทพฯ 20 ส.ค. – เบบินคา-มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ส่งผลน้ำไหลเข้าเขื่อน 7 วัน สูงสุดที่ภาคตะวันตกกว่า 1 พันล้าน ลบ.ม. ศูนย์เฉพาะกิจฯ ชี้เขื่อนใหญ่เฝ้าระวัง 5 แห่ง เพิ่มเขื่อนปราณบุรีหลังน้ำไหลเข้า 84% ของความจุ
นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ เปิดเผยสถานการณ์น้ำและพื้นที่เสี่ยงสำคัญวันที่ 20 ส.ค.61 ว่า สภาพฝนวันนี้ประเทศไทยยังมีฝนต่อเนื่องและฝนตกหนักบางแห่ง ทำให้ยังต้องเฝ้าระวังปริมาณฝนสะสม โดยเฉพาะ 15 จังหวัด ที่ต้องเฝ้าระวังภาคเหนือ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย น่าน ตาก ภาคตะวันตก กาญจนบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ภาคตะวันออก นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี ตราด ภาคใต้ ระนอง พังงา ซึ่งปริมาณฝน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนักถึงหนักมาก ภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ 74.5 มม. ภาตะวันออก จันทบุรี 101.5 มม. ตราด 67.8 มม. ระยอง 49.2 มม. ภาคกลาง เพชรบูรณ์ 100.5 มม. พิษณุโลก 48 มม. ภาคใต้ พังงา 124.5 มม. กระบี่ 73 มม. สตูล 52.2 มม. นราธิวาส 43.8 มม. ปัตตานี 43.0 มม. ยะลา 35 มม.
สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ซึ่งเป็นอ่างฯ ขนาดใหญ่ที่มีระดับเกินเกณฑ์ควบคุม (Upper Rule Curve) และปริมาณน้ำเกินร้อยละ 80 ของความจุ ล่าสุดเพิ่มเขื่อนปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ส่งผลให้เขื่อนเฝ้าระวังพิเศษ เพิ่มเป็น 5 แห่ง จากเมื่อวานนี้ 4 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่ยังคงมีปริมาณน้ำไหลเข้ามากกว่าระบายออกยกเว้นเขื่อนน้ำอูน 1.เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ปริมาณน้ำ 776 ล้าน ลบ.ม. จากเมื่อวาน 771 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 109% น้ำล้นทางระบายน้ำ (Spillway) สูง 1.41 เมตร ปริมาณน้ำไหลเข้า 30.64 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่ระบายออก 22.46 ล้าน ลบ.ม. แนวโน้มการระบายน้ำยังคงสูง ระดับน้ำในแม่น้ำเพชรบุรี บริเวณ อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ล้นตลิ่ง 11 ซม. และที่ อ.เมืองเพชรบุรี จ.เพชรบุรี ยังต่ำกว่าตลิ่ง 33 ซม. ทำให้พื้นที่ริม 2 ฝั่งลำน้ำในบริเวณ อ.แก่งกระจาน อ.ท่ายาง อ.บ้านลาด อ.เมือง และ อ.บ้านแหลม ที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
2. เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร ปริมาณน้ำไหลเข้าน้อยกว่าระบายออก ปัจจุบันปริมาณน้ำ 528 ล้าน ลบ.ม. จากเมื่อวาน 530 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 101% ปริมาณน้ำไหลเข้า 3.55 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่ปริมาณน้ำระบายออก 5.28 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำล้นตลิ่ง บริเวณบ้านนาหว้า อ.นาหว้า จ.นครพนม บ้านพอกใหญ่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร 3. เขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี ปริมาณน้ำ 7,984 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 90% ปริมาณน้ำไหลเข้า 86.84 ล้าน ลบ.ม. ระบายออก 42.10 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งในช่วงวันที่ 23-27 ส.ค. 61 จะปรับการระบายน้ำเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 53 ล้าน ลบ.ม. 4. เขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก ปริมาณน้ำ 194 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 86% ปริมาณน้ำไหลเข้า 7.59 ล้าน ลบ.ม. ระบายออก 6.65 ล้าน ลบ.ม. มีน้ำไหลผ่านทางระบายน้ำล้นสูง 63 ซม. และ 5. เขื่อนปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ปริมาณน้ำ 330 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 84% ปริมาณน้ำไหลเข้า 22.94 ล้าน ลบ.ม. ระบายออก 10.78 ล้าน ลบ.ม.
ขณะที่อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่/กลางที่มีปริมาณน้ำในอ่างเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว 2 แห่ง คือ 1. เขื่อนรัชชประภา จ.สุราษฏร์ธานี ปริมาณน้ำ 4,903 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 87% ปริมาณน้ำไหลเข้า 36.87 ระบายออก 19.68 ล้าน ลบ.ม. และ 2. อ่างเก็บน้ำคิรีธาร จ.จันทบุรี ปริมาณน้ำ 76 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 100% ปริมาณน้ำที่ระบาย 0.83 ล้าน ลบ.ม.
“จากอิทธิพลของพายุเบบินคาและมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ส่งผลให้น้ำไหลเข้าอ่างฯ สะสม 7 วัน ( 12 – 19 ส.ค. 61) มีน้ำไหลเข้าอ่างฯ ขนาดใหญ่ รวมทั้งประเทศ 2,676 ล้าน ลบ.ม. สูงสุดที่ภาคตะวันตก 1,062 ล้าน ลบ.ม. ภาคเหนือ 627 ล้าน ลบ.ม. ภาคใต้ 549 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 256 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันออก 119 ล้าน ลบ.ม. และภาคกลาง 61 ล้าน ลบ.ม. ตามลำดับ ขณะที่อ่างฯ ที่ความจุเกิน 100% แบ่งเป็น ขนาดใหญ่ 2 แห่ง ได้แก่ เขื่อนน้ำอูน เขื่อนแก่งกระจาน ขนาดกลาง 11 แห่ง แบ่งเป็น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8 แห่ง และภาคตะวันออก 3 แห่ง ขณะที่อ่างเฝ้าระวัง (80-100%) ขนาดใหญ่ 5 แห่ง ได้แก่ เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนวชิราลงกรณ เขื่อนรัชชประภา เขื่อนขุนด่านปราการชล เขื่อนปราณบุรี ขนาดกลาง 62 แห่ง แยกเป็น ภาคเหนือ 5 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 45 แห่ง ภาคตะวันออก 8 แห่ง ภาคกลาง 1 แห่ง และภาคใต้ 3 แห่ง” นายสำเริง กล่าว.-สำนักข่าวไทย