สำนักข่าวไทย 19 ก.ย.-กกอ.ชื่นชมนักศึกษาปี 2 มจธ.สร้างชื่อเสียง เป็น 1ใน 5 เยาวชนทั่วโลกที่ได้ส่งโครงการขึ้นไปทดลองในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วงบนสถานีอวกาศนานาชาติ ย้ำให้ความสำคัญให้มหาวิทยาลัยทำงานวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศ
น.ส.อาภรณ์ แก่นวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา(กกอ.) ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวไทยถึงกรณีที่สังคมออนไลน์ชื่นชมนายวรวุฒิ จันทร์หอม นักศึกษาชั้นปีที่ 2 ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ที่ได้สร้างผลงาน “สภาวะไร้แรงโน้มถ่วง” เป็นตัวแทนเยาวชนไทยที่ได้รับคัดเลือกจากองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (Japan Aerospace Exploration Agency(JAXA) ให้เป็น 1 ใน 5 เยาวชนทั่วโลกที่ได้ส่งโครงการขึ้นไปทดลองในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วงบนสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) จนประสบผลสำเร็จ จนเมื่อวันที่ 14 ก.ย.ที่ผ่านมาสำนักข่าว NHK ได้รายงานข่าวดังกล่าวว่า ในฐานะที่สกอ.เป็นหน่วยงานที่ดูแลสถาบันอุดมศึกษา ขอแสดงความยินดีกับความสำเร็จ นักศึกษาได้แสดงให้เห็นว่า ได้นำความรู้ที่มีในห้องเรียนไปประยุกต์นำสู่การปฏิบัติจริง ทั้งสะท้อนความก้าวหน้าของการเรียนด้านวิทยาศาสตร์ของไทย ฝากให้เยาวชนคนอื่นได้เอาเป็นแบบอย่าง
ส่วนการส่งเสริมการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ในระดับอุดมศึกษานั้น สกอ.ให้ความสำคัญกับการทำงานวิจัยทั้งของอาจารย์และนักศึกษา ส่งเสริมระบบการเรียนการสอนที่ฝึกการคิดวิเคราะห์ของเด็ก เพื่อช่วยพัฒนาประเทศในอนาคต
สำหรับผลงานของนายวรวุฒิ ที่ได้รับการคัดเลือก มีชื่อว่า “Capillary in Zero gravity” จุดเริ่มต้นของการทดลองนี้มาจากการทำ Lab ในห้องเรียน สังเกตว่าของเหลวที่อยู่ในภาชนะที่มีลักษณะเป็นหลอด ผิวของน้ำจะมีลักษณะแตกต่างกัน บางผิวมีลักษณะเว้าขึ้น บางผิวมีลักษณะเว้าลง ทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนในการอ่านข้อมูลจึงเริ่มหาข้อมูลจากแหล่งข้อมูลต่างๆ เพื่อนำมาสนับสนุนการทดลองในครั้งนี้ และพบว่าความเว้านูนของน้ำขึ้นอยู่กับแรง adhesive(ยึดติด) และ cohesive(เชื่อม) ซึ่งในสมการจะมีแรงเนื่องจากแรงโน้มถ่วงอยู่ในสมการ จึงสงสัยว่าถ้าทดลองในสภาวะไร้น้ำหนัก ลักษณะของผิวของเหลวจะเป็นอย่างไร โดยการทดลองจะนำของเหลวต่างชนิดกันมาบรรจุในเข็มฉีดยา (Plastic syringe) จากนั้นสังเกตผิวของของเหลวแล้วนำมาเปรียบเทียบกับการทดลองบนโลก.-สำนักข่าวไทย