รัฐสภา 16 ส.ค.-สนช.รับหลักการร่าง พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน ที่ ครม.เสนอ เพื่อให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจปฏิบัติเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ
นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นประธานในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยก่อนเริ่มการพิจารณาตามวาระ สนช.ได้จัดพิธีรับพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งประธานกรรมการการเลือกตั้ง และกรรมการการเลือกตั้ง จำนวน 5 คน ประกอบด้วย นายอิทธิพร บุญประคอง เป็นประธานกรรมการการเลือกตั้ง นายสันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์ นายธวัชชัย เทอดเผ่าไทย นายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี และนายปกรณ์ มหรรณพ เป็นกรรมการการเลือกตั้ง
จากนั้น ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ โดย นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงสาระสำคัญ ว่า เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน ปี 2551 เพื่อกำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจ ถือปฏิบัติหรือปฏิบัติเพิ่มเติมและแต่งตั้งผู้ตรวจการสถาบันการเงินเฉพาะกิจเพื่อตรวจสอบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ และแก้ไขเพิ่มเติมบทกำหนดโทษกรณีที่มีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อให้การกำกับดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้สถานบันการเงินเฉพาะกิจมีความมั่นคงทางการเงิน และป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากสถาบันการเงิน ถือเป็นเครื่องมือของรัฐในการดำเนินกิจการทางการเงินเพื่อประชาชน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้
ขณะที่สมาชิก สนช. อภิปรายสนับสนุนร่างกฎหมายฉบับนี้ เพื่อให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจบรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ โดย พล.ร.อ.ธราธร ขจิตสุวรรณ ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการยกเลิกข้อความในมาตรา 5 ในการเพิ่มความในมาตรา 131/1 กรรมการ ผู้จัดการ หรือผู้มีอำนาจในการจัดของสถาบันการเงินเฉพาะกิจผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติ หรือไม่ควบคุมดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดตามมาตรา 120 หรือมาตรา 120/1 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 300,000 บาท เหตุใดต้องแก้ให้มีการกำหนดโทษ ซึ่งจากเดิมไม่มี
ด้านนายศิริพล ยอดเมืองเจริญ สมาชิก สนช. เห็นว่า สถาบันการเงินเฉพาะกิจมีการปล่อยสินเชื่อโดยประมาน 1 ใน 4 ของทั้งหมด โดยเฉพาะผู้ให้บริการ ที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน หรือ Non-bank จะทำอย่างไร ซึ่งมีการปล่อยสินเชื่อที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับอดีตที่ผ่านมา ที่สำคัญควรสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนเกี่ยวกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เนื่องจากระบบการเงินการคลังของประเทศเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณปริมาณเงิน ทั้งคริปโตเคอเรนซีมีการกำหนดการควบคุมปริมาณเงินไว้หรือไม่ เนื่องจากการควบคุมปริมาณเงินจะสามารถป้องกันปัญหาอัตราเงินเฟ้อได้
ทั้งนี้ นายวิสุทธิ์ กล่าวว่า สถาบันการเงินเฉพาะกิจ ถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก จึงจำเป็นต้องเข้ามาดูแล กำกับ เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้บริการ ซึ่งสถาบันการเงินเฉพาะกิจต้องดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล โดยมีธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้ควบคุม ดูแล เพราะมีความเชี่ยวชาญในการกำกับสถาบันทางการเงินโดยตรงอยู่แล้ว รัฐบาลพยายามกำกับให้เกิดประโยชน์สูงสุด ส่วนการกำหนดโทษเป็นการกำหนดโทษขั้นต่ำของสถาบันการเงินเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ที่สุดแล้วที่ประชุมมีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ด้วยคะแนน เห็นด้วย 195 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง.-สำนักข่าวไทย