สำนักข่าวไทย 21ก.ค.-จิตแพทย์ ย้ำระยะเฝ้าระวัง1เดือน สื่อไม่ควรเข้าไปยุ่งกับน้องๆ หมูป่า ให้เวลาก้าวข้ามความหวาดกลัว พร้อมติงสื่อนอกที่บุกถึงบ้าน ถือเป็นตัวอย่างไม่ดี ขณะที่สื่อไทยให้ความร่วมมือทำงานอย่างมืออาชีพ
นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีที่มีสื่อต่างชาติบางสำนักไปสัมภาษณ์น้อง ๆ ทีมหมูป่าอะคาเดมีแบบเจาะลึกถึงที่บ้าน ว่า เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เพราะน้องๆ กลุ่มนี้ต้องใช้ระยะเวลาในการปรับตัวอย่างน้อย 1 เดือน สื่อไม่ควรเข้าไปสัมภาษณ์ หรือซักถาม ประสบการณ์ใดๆ ทั้งสิ้น เพราะเป็นช่วงเวลาที่พวกเขาต้องก้าวข้าม ความหวาดกลัว รู้สึกผิดต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นภาระทางจิตใจมากที่สุด จากการที่เป็นผู้รอดชีวิต ดังนั้น การกระทำของสื่อที่เกิดขึ้น ถือเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี
ส่วนกรณีที่มีการตั้งคำถามว่าทำไมสื่อต่างชาติถึงทำได้ มองว่าเป็นเพียงส่วนน้อยที่กระทำไม่เหมาะสม สื่อไทยควรมีจุดยืนในการทำข่าวอย่างสร้างสรรค์ ควรปล่อยให้เด็กๆ ได้กลับไปใช้ชีวิตตามปกติ เพื่อคืนความเข้มแข็งให้กับพวกเขา
ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรทำความเข้าใจกับผู้ปกครอง ถึงผล กระทบที่จะตามมา หากปล่อยให้สื่อเข้ามาสัมภาษณ์บุตร-หลานของตัวเองซ้ำๆ จะยิ่งทำให้พวกเขาปรับตัวได้ยาก อาจนำไปสู่ภาวะบาดแผลทางใจ เนื่องจากสภาพจิตใจกว่าจะปรับตัว และใช้ชีวิตปกติได้ ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือน ถึง 1ปี
นพ.ยงยุทธ กล่าวด้วยว่า การที่สังคมโซเชียลมีอคติกับสื่อไทยนั้น อาจเป็นเพราะในอดีตที่ผ่านมา สื่อไทยมีภาพลักษณ์ในการนำเสนอข่าวที่ไม่เหมาะ สม ซึ่งปรากฎการณ์ที่สื่อไทยถูกจับตามองในครั้งนี้ ถือว่าเป็นสร้างบรรทัดฐานที่สำคัญ ยกระดับการทำงานอย่างมืออาชีพและเป็นที่น่าดีใจที่สื่อไทยให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี
พร้อมแนะนำในระยะเวลา 1 เดือนนี้ สื่อควรนำเสนอความมีน้ำใจของบุคคลต่างๆ ที่เข้ามาช่วยเหลือ การเอาชนะอุปสรรค ความยากลำบาก ตลอดจนความเสียสละของบุคคลธรรมดา ที่เรียกว่า ปิดทองหลังพระ
สิ่งเหล่านี้จะยิ่งสร้างคุณค่าให้กับสื่อไทย .-สำนักข่าวไทย