กรุงเทพฯ 21 ก.ย.-ไทย-สปป.ลาว เตรียมตั้งคณะกรรมทำงานเจรจากรอบแลกเปลี่ยนไฟฟ้า และแก้ปัญหาหนี้สะสมที่ สปป.ลาวติดค้างไทย 6,000 ล้านบาท ส่วนเอ็มโอยู 9,000 เมกะวัตต์ มีเพียง 2โครงการคือปากเบ่งและเซกอง ที่ รัฐบาล สปป.ลาวเสนอมาพิจารณา
นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ในฐานะโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่าไทยและ สปป.ลาวมีความร่วมมือด้านไฟฟ้า 2 ด้าน ได้แก่ ข้อตกลงความซื้อขาย ซึ่งมีการลงนามเอ็มโอยู 9,000 เมกะวัตต์ และข้อตกลง การแลกเปลี่ยนไฟฟ้าที่ร่วมมือกันกว่า 40 ปี กำลังผลิตร 494 เมกะวัตต์
โดยข้อตกลงแลกเปลี่ยนไฟฟ้า เป็นประโยชน์ต่อ 2 ประเทศ ซึ่ง สปป.ลาวลาวจะส่งไฟฟ้าให้ประเทศไทยเมื่อมีกำลังผลิตเหลือ และประเทศไทยจะส่งไฟฟ้าคืนในปริมาณเท่ากันเมื่อการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำของลาวลดลงในฤดูแล้ง โดยลาวส่งไฟฟ้าให้ประเทศไทย 2 จุด แต่ไทยส่งไฟฟ้าคืน 6 จุด การดำเนินการพบว่า สปป.ลาวมีหนี้ค้างชำระต่อประเทศไทยเป็นจำนวน 6,000 ล้านบาท ดังนั้น 2 ประเทศ จะตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อพิจารณาการต่ออายุกรอบความร่วมมือที่จะหมดใน 5 ปีข้างหน้า และแก้ปัญหาหนี้สินที่เกิดขึ้น
นอกจากนี้ ประเทศไทยและลาวเพิ่งลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อขยายกรอบการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกันจาก 7,000 เมกะวัตต์ เป็น 9,000 เมกะวัตต์ เมื่อ 6 ก.ย. ที่ผ่านมา MOU ดังกล่าวมีโครงการที่ชัดเจนแล้ว 9 แห่ง กำลังการผลิตรวม 5,936 เมกะวัตต์ ขณะเดียวกันมีโครงการอีก 6 แห่ง กำลังการผลิตรวม 2,693 เมกะวัตต์ ซึ่งมีศักยภาพที่จะรับซื้อเพิ่มเติมภายใต้ MOU ประกอบด้วย โครงการที่ทางรัฐบาล สปป.ลาวยื่นข้อเสนอขายไฟฟ้าอย่างเป็นทางการ 2 แห่ง ได้แก่ โครงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำปากเบ่ง 798 เมกะวัตต์และโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเซกอง 590 เมกะวัตต์ ส่วนอีก 4 แห่งเป็นโครงการที่มีศักยภาพ แต่ผู้พัฒนายังไม่ได้ยื่นข้อเสนอเรื่องอัตราค่าไฟฟ้า ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังน้ำเซกอง 4 กำลังการผลิต 240 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังน้ำเซกอง 5 กำลังการผลิต 330 เมกะวัตต์
โครงการไฟฟ้าพลังน้ำน้ำกง 1 กำลังการผลิต 75 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซนาคาม 660 เมกะวัตต์
สำหรับโครงการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างไทย-สปป.ลาว ผลิตและเข้าระบบ แล้วมีจำนวน 5 โครงการ รวม 3,578 เมกะวัตต์ โครงการที่ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) แล้วและอยู่ระหว่างการก่อสร้างมี 3 โครงการกำลังการผลิตรวม 1,843 ได้แก่ โครงการเซเปียน-เซน้ำน้อย 354 เมกะวัตต์ โครงการน้ำเงี้ยบ 1 กำลังการผลิต 269 เมกะวัตต์ และโครงการไซยะบุรี กำลังการผลิต 1,220 เมกะวัตต์ ซึ่งทั้งหมดจะเข้าระบบปี 2562
นอกจากนี้มีโครงการที่ลงนามในบันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้า (Tariff MOU) 1 แห่ง ได้แก่ โครงการน้ำเทิน 1 กำลังการผลิต 515 เมกะวัตต์ คาดว่าจะลงนามในสัญญาซื้อขาย( PPA )และเริ่มก่อสร้างได้ในปีหน้า และ COD ในปี 2565 -สำนักข่าวไทย