กรุงเทพฯ 16 ก.ค. – หลังจากกระทรวงสาธารณสุข ออกประกาศห้ามผลิต นำเข้า จำหน่าย อาหารที่มีไขมันทรานส์ หรือน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน เป็นส่วนประกอบ เนื่องจากส่งผลเสียต่อสุขภาพ โดยจะมีผลบังคับใช้ในอีก 180 วันข้างหน้า ทำให้เกิดกระแสตื่นตัวในกลุ่มผู้บริโภคอย่างมาก ไขมันทรานส์อันตรายขนาดไหน ติดตามจากรายงาน
นับจากนี้ไปอีก 6 เดือน ประเทศไทยจะปราศจากไขมันทรานส์ หรือไขมันไม่อิ่มตัวชนิดส่งผลเสียต่อร่างกาย หลังประกาศกระทรวงสาธารณสุข มีผลบังคับใช้ โดยห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน เป็นส่วนประกอบของอาหาร ซึ่งมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ชี้ว่า กรดไขมันทรานส์เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลว่า การเติมไฮโดรเจนลงในน้ำมันพืช เพื่อให้เกิดการแข็งตัว ลดกลิ่นเหม็นหืน ทำให้เก็บได้นานขึ้น ผลิตภัณฑ์ที่มีไขมันทรานส์เป็นส่วนประกอบ เช่น เนยขาว เนยเทียม หรือมาร์การีน มักนำมาประกอบอาหารจำพวกเบเกอรี่ชนิดต่างๆ พัฟฟ์ พาย โดนัท และเวเฟอร์ช็อกโกแลต มีงานวิจัยชัดเจนว่า การบริโภคไขมันทรานส์มีผลร้ายต่อร่างกาย เพิ่มคอเลสเตอรอล ก่อให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ไม่ควรบริโภคเกินกว่า 2.2 กรัม/วัน และไม่ควรพบไขมันทรานส์เกิน 0.5 กรัม/หน่วยบริโภค
ในสหรัฐอเมริกา ประกาศห้ามใช้ไขมันทรานส์ ตั้งแต่ปี 2558 และองค์การอนามัยโลก ประกาศแผนยุทธศาสตร์กำจัดไขมันทรานส์ให้หมดไปจากอุตสาหกรรมอาหารในอีก 5 ปีข้างหน้า
กว่าจะมาเป็นประกาศฉบับนี้ อย.ได้หารือกับสถาบันโภชนาการ ม.มหิดล และสถาบันโภชนาการมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมถึงผู้ประกอบการ 2-3 ปีแล้ว เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค และให้ไทยปลอดไขมันทรานส์ โดยข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก พบว่า อาหารแปรรูปเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตจากโรคหัวใจ กว่า 500,000 ราย/ปี
ทั่วโลกเริ่มตระหนักว่า ไขมันทรานส์ อันตรายต่อสุขภาพ การสั่งห้ามผลิตอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ผู้บริโภคเองควรเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เพื่อสุขภาพดีจะได้อยู่คู่กับเราอีกนาน. – สำนักข่าวไทย