นครนิวยอร์ก 21 ก.ย.-นายกรัฐมนตรีกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมระดับสูงเรื่องการดื้อยาต้านจุลชีพ ในฐานะกลุ่ม G 77 และจีน ย้ำการแก้ปัญหา ต้องไม่กระทบการเข้าถึงยาของประชาชน ขณะที่ไทยจัดทำแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพฉบับแรกของประเทศเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
“จิตตานันท์ นิกรยานนท์” ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวไทย ติดตามคณะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 71 ระหว่างวันที่ 18-25 กันยายน 2559 ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา รายงานว่า เวลา 10.00 น. วันที่ 21 กันยายน 2559 ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งช้ากว่าเวลาประเทศไทย 11 ชั่วโมง นายกรัฐมนตรีร่วมพิธีเปิดการประชุมและกล่าวถ้อยแถลง ในฐานะกลุ่ม G 77 และจีน ในการประชุมระดับสูงเรื่องการดื้อยาต้านจุลชีพ (High-Level Meeting on Anti-Microbial Resistance (AMR) โดยมีประธานสมัชชาสหประชาชาติ เลขาธิการสหประชาชาติและผู้บริหารระดับสูงขององค์การสหประชาชาติเข้าร่วมด้วย อาทิ ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ผู้อำนวยการใหญ่องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ เข้าร่วมการประชุม
พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนกลุ่ม G 77 และจีน กล่าวถ้อยแถลงว่า การประชุมระดับสูงเรื่องการดื้อยาต้านจุลชีพในครั้งนี้ เป็นโอกาสครั้งประวัติศาสตร์ในการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการดื้อยาต้านจุลชีพทั่วโลก และยังเป็นโอกาสกระตุ้นเจตจำนงทางการเมืองในระดับสูง เพื่อสนับสนุนความพยายามเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพ ซึ่งสอดคล้องกับแผนปฏิบัติการระดับโลกและเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ 5 ประการที่สนับสนุนการทำงานของภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคการสาธารณสุข และภาคสังคม ร่วมกันแก้ไขปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพบนพื้นฐานของแนวทางสุขภาพหนึ่งเดียว
“นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าการดื้อยาต้านจุลชีพ เป็นความท้าทายของมวลมนุษยชาติ และส่งผลกระทบต่อผู้คนโดยไม่เลือกชั้นวรรณะ ในขณะที่ขีดความสามารถของประเทศต่าง ๆ ในการจัดการกับปัญหาเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพแตกต่างกันอย่างมาก ตามระดับการพัฒนาประเทศและศักยภาพของระบบสุขภาพ ดังนั้นประเทศกำลังพัฒนาจะได้รับผลกระทบอย่างมาก หากไม่แก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ กลุ่ม G 77 และจีน เน้นการดำเนินนโยบายแก้ปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพ แต่ต้องไม่กระทบการซื้อและเข้าถึงยาต้านจุลชีพทั้งชนิดเดิมและที่ค้นพบใหม่ รวมทั้งวัคซีน และเครื่องมือตรวจวินิจฉัย” รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว
พล.ต.วีรชน กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีระบุว่าการแก้ปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพต้องสนับสนุนเป้าหมายต่าง ๆ ที่ครอบคลุม โดยส่งเสริมการสร้างความตระหนักรู้กรณีการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์ คน และการเกษตรอย่างเหมาะสม เสริมสร้างขีดความสามารถในการป้องกันการติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงการสร้างหลักประกันการเข้าถึงน้ำสะอาด สุขลักษณะ และสุขอนามัย การสร้างภูมิคุ้มกัน และการควบคุมการติดเชื้อทั้งในและนอกสถานพยาบาล สร้างความเข้มแข็งให้ระบบสุขภาพและส่งเสริมหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
“นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าต้องสนับสนุนการวิจัยและการพัฒนายาต้านจุลชีพ โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะชนิดใหม่ วัคซีน เครื่องมือตรวจวินิจฉัย และนวัตกรรม ซึ่งรวมถึงยาแผนดั้งเดิมและยาสมุนไพรอย่างเร่งด่วน โดยมีหลักประกันว่าต้องเป็นไปตามความจำเป็น มีหลักฐานเชิงประจักษ์ และรับผิดชอบร่วมกัน โดยยึดหลักราคาสมเหตุสมผล มีประสิทธิผล ประสิทธิภาพ และความเท่าเทียม โดยตัดความเชื่อมโยงระหว่างต้นทุนการวิจัยและพัฒนาจากราคาและปริมาณในการขาย ซึ่งกลุ่ม 77 และจีนยินดีที่หลักการการตัดความเชื่อมโยงนี้ได้รับการเน้นความสำคัญในปฏิญญาทางการเมือง” รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว
พล.ต.วีรชน กล่าวอีกว่า นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการสร้างหลักประกันให้ราคายาที่ต้องไม่สูงเกินไปและสามารถเข้าถึงยาปฏิชีวนะ วัคซีน เครื่องมือตรวจวินิจฉัย และเครื่องมือทางการแพทย์อื่น ๆ ทั้งที่มีอยู่และแบบใหม่ โดยยินดีต่อผลลัพธ์ของการอภิปรายระดับสูงเรื่องการเข้าถึงยา ซึ่งจัดโดยเลขาธิการสหประชาชาติ เสริมสร้างศักยภาพ การถ่ายทอดเทคโนโลยี การให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิค ความร่วมมือระหว่างประเทศ และการสนับสนุนด้านการเงินเพื่อการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการระดับชาติ ซึ่งรวมถึงการพัฒนาและการเฝ้าระวังการดื้อยาต้านจุลชีพ และการติดตามดูแลการใช้ยาต้านจุลชีพ ต้องสนับสนุนการวิจัยระบบสาธารณสุข และการวิจัยและพัฒนา ทั้งประเด็นการใช้ยาปฏิชีวะอย่างสมเหตุสมผล ตลอดจนการคุ้มครองและสร้างหลักประกันในการเข้าถึงยา โดยต้องคำนึงถึงการมีระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับยาปฏิชีวนะที่เหมาะสม ไม่เป็นภัยต่อสุขภาพ หรือก่อให้เกิดอุปสรรคในการเข้าถึงการดูแล โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง
“โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรียังยืนยันการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการระดับโลกอีกครั้งผ่านปฏิญญาทางการเมือง โดยให้คำมั่นที่จะลงมือปฏิบัติในเรื่องความร่วมมือระหว่างประเทศ การระดมกำลังคนและแหล่งเงินทุน การสนับสนุนด้านเทคนิคและด้านอื่น ๆ เพื่อพัฒนาและดำเนินการตามแผนปฏิบัติการระดับชาติ โดยเฉพาะให้ความสำคัญในมิติด้านสาธารณสุข ความพยายามประสานงาน และความร่วมมือของเราจะต้องก่อให้เกิดผลลัพธ์ด้านสาธารณสุขที่สำคัญสำหรับคนรุ่นเราและคนรุ่นลูก ทั้งนี้กลุ่ม G 77 และจีน จะรอคอยรายงานที่อ้างถึงในปฏิญญาทางการเมืองเพื่อสานต่อการพิจารณาและการดำเนินงานที่สำคัญในเรื่องการดื้อยาต้านจุลชีพ” รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว
พล.ต.วีรชน กล่าวด้วยว่า นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการดำเนินการในส่วนของประเทศไทยว่า เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพฉบับแรกของประเทศ ซึ่งเน้นการส่งเสริมการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างสมเหตุสมผล การเข้าถึงยาต้านจุลชีพที่จำเป็นในหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าตั้งแต่ปี 2545 เพื่อให้บรรลุปณิธานทั้งสอง จึงได้ริเริ่มสิ่งจูงใจเพื่อให้เกิดแนวทางในการลดการใช้ยาต้านจุลชีพในการรักษาบาดแผลถลอก การติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน และอาการท้องร่วง ซึ่งการบรรลุหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และความพยายามในการแก้ปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพ เป็นการรวมสรรพกำลังในบริบทของประเทศไทย และอาจเป็นโอกาสเพิ่มเติมให้สามารถเชื่อมโยงระหว่างความพยายามด้านการพัฒนาสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจ เพื่อต่อสู้กับการดื้อยาต้านจุลชีพ เรายินดีที่จะสานต่อความร่วมมือกับทุกภาคส่วนและมีส่วนร่วมในความพยายามระดับโลกอย่างสร้างสรรค์.-สำนักข่าวไทย