สำนักข่าวไทย 3 ก.ค.-ที่ผ่านมายังไม่เคยมีใครเข้าไปสำรวจถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จนสุดปลายถ้ำ มีเพียงการทำวิจัยเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ที่ถ้ำมีความสลับซับซ้อน บางช่วงแคบ และมีเพดานต่ำ ไม่สามารถเดินผ่านไปได้ ซึ่งลักษณะภูมิทัศน์เช่นนี้จึงกลายเป็นอุปสรรคในการค้นหาเด็กและโค้ชทั้ง 13 คน
ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าดอยนางนอน จังหวัดเชียงราย ที่นี่เป็นถ้ำหินปูนกึ่งแห้งขนาดใหญ่ ซึ่งถือว่าเป็นถ้ำที่มีความยาวมากที่สุดเป็นอันดับ 4 ในไทย ในปี 2538 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ลงพื้นที่สำรวจและวิจัยเกี่ยวกับถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน เพื่อวางแผนการจัดการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติบริเวณถ้ำหลวงนางนอน ในครั้งนั้นมีการศึกษาทั้งหมด 9 ส่วน เช่น การสำรวจจัดทำแผนที่ถ้ำ การสำรวจด้านธรณีวิทยา ด้านชีวภาพ สภาพภูมิทัศน์ ตลอดจนประวัติความเป็นมา
มีการคาดการณ์ว่าถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน เกิดขึ้นมาตั้งแต่ 300 ล้านกว่าปีที่แล้ว ปากถ้ำเป็นโถงกว้างและสูงกว่าโถงถ้ำแรก ภายในถ้ำพบเกล็ดหินสะท้อนแสง หินงอก หินย้อย ธารน้ำ ถ้ำลอด ถ้ำแขนง แนวโถงมีเส้นทางคดเคี้ยว บางช่วงมีเพดานต่ำ และยังพบร่องรอยการไหลของน้ำ
ถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอนยังพบหินปูน หินอ่อน ซากฟอสซิล สลับกับหินดินดาน ส่วนตะกอนมีตั้งแต่ขนาดเล็ก คือดินเหนียว และขนาดใหญ่คือกรวด และทรายหยาบ นอกจากนี้ยังพบก้อนหินซึ่งหักและถล่มตามพื้น ทำให้เส้นทางบางช่วงต้องปีนป่ายและมุดเข้าไป
งานวิจัยชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่าถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน เป็นถ้ำที่ใหญ่และลึก ความยาวที่เดินเข้าไปสำรวจได้ในเดือนมิถุนายนในขณะนั้น พบยาวถึง 763 เมตร ความกว้างเฉลี่ย 60 เมตร และช่วงที่แคบที่สุดมีขนาดเพียง 1 เมตร 50 เซนติเมตรเท่านั้น ทำให้การเดินทางในถ้ำค่อนข้างลำบาก พื้นเป็นหลุม ขรุขระ และลาดชันลงหลายแห่ง
ยิ่งในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงตุลาคม ซึ่งเป็นฤดูฝน ภายในถ้ำจะมีน้ำไหลจากภายในตัวถ้ำออกสู่ปากถ้ำ และไหลลงช่องใต้ดินบริเวณปากถ้ำ ซึ่งกลายเป็นอุปสรรคสำคัญในการเดินทาง จะมีเพียงแค่บริเวณที่เรียกว่า เขาวกวน ระยะทางประมาณ 300 เมตร จากตัวถ้ำเท่านั้นที่สามารถเดินได้ แต่ในช่วงเวลาอื่นจะสามารถเดินเข้าไปจนถึงเมืองลับแล ซึ่งเป็นจุดที่ลึกที่สุดที่นักสำรวจชุดนี้เข้าไปสำรวจ ซึ่งจะผ่านจุดสำคัญที่ระบุตามแผนที่นี้ เช่น พระสุเมรุ ท้องฟ้าจำลอง เจดีย์ทราย ลานเพลิน ซึ่งการเดินทางภายในถ้ำต้องมีผู้ที่ชำนาญเส้นทางเป็นคนนำ เพราะเส้นทางภายในถ้ำมีลักษณะวกวน
เช่นเดียวกับข้อมูลของคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่เข้าไปสำรวจถ้ำเมื่อปี 59 ช่วงระยะทาง 760 เมตรแรกของถ้ำ ในครั้งนั้นแม้จะมีเจ้าหน้าที่ของวนอุทยานเป็นผู้นำทาง แต่ก็พบว่าเส้นทางภายในถ้ำมีความสลับซับซ้อน คับแคบ และหลงทางได้ง่าย หากไม่มีผู้ที่ชำนาญเส้นทาง บางช่วงพบมีหินถล่มลงมา ต้องใช้วิธีการมุดและปีนป่าย ขณะเดียวกันหินงอก หินย้อย ก็กลายเป็นอุปสรรคเช่นเดียวกัน
ที่ผ่านมายังไม่ปรากฏข้อมูลว่ามีผู้ใดเคยเข้าไปสำรวจจนสุดปลายถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ประกอบกับน้ำฝนและน้ำจากปลายถ้ำไหลเติมเข้ามาในถ้ำ ทำให้นี่กลายเป็นอุปสรรคสำคัญอย่างหนึ่งในการปฏิบัติการค้นหาทั้ง 13 ชีวิต ตลอดทั้ง 9 วันที่ผ่านมา.-สำนักข่าวไทย