รัฐสภา 29 มิ.ย. – สนช. รับหลักการร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร ให้สามารถลดหย่อนบุตรตั้งแต่คนที่ 2 เป็นต้นไป ที่เกิดหลังปี 61 เพิ่มอีกคนละ 30,000 บาท จูงใจประชาชนให้มีบุตรเพิ่ม
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วันนี้ (28 มิ.ย.) พิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ โดยนายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงว่า เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร เพื่อปรับปรุงการหักลดหย่อนสำหรับบุตร เนื่องจากประเทศไทยมีอัตราการเกิดลดลง ทำให้มีประชากรวัยแรงงานลดลง และอัตราส่วนของผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น เพื่อเป็นการจูงใจให้ผู้มีเงินได้มีบุตรมากกว่า 1 คน อันจะส่งผลให้โครงสร้างประชากรของประเทศ มีความเหมาะสมกับการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต
ทั้งนี้ การปรับปรุงหลักเกณฑ์การหักลดหย่อนสำหรับบุตร ได้กำหนดให้ปรับเพิ่มค่าลดหย่อนบุตรชอบด้วยกฎหมาย ตั้งแต่คนที่ 2 เป็นต้นไปของผู้มีเงินได้ หรือ ของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ ซึ่งเกิดในหรือหลังปี พ.ศ. 2561 เป็นต้นไปได้เพิ่มอีก คนละ 30,000 บาท โดยให้นับลำดับบุตรทุกคน ไม่ว่าจะมีชีวิตอยู่หรือไม่ก็ตาม และให้ใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินประจำปีภาษี พ.ศ. 2561 ที่จะต้องยื่นรายการในปี พ.ศ. 2562 เป็นต้นไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาชิก สนช. อภิปรายสนับสนุน โดยเห็นว่า มาตรการการลดภาษีของรัฐบาล จะช่วยให้ประชาชนอยากมีบุตรเพิ่มมากขึ้น แต่บางส่วนก็เห็นว่า ตัวเลขลดหย่อน 30,000 บาท ไม่น่าจะทำให้จูงใจให้มีบุตรเพิ่มได้ ควรเพิ่มจำนวนและหามาตรการอื่นๆ เพื่อจูงใจเพิ่มเติมเชื่อมโยงกันไปด้วย อีกทั้งเห็นว่า จำนวนคนไม่ใช่สาระสำคัญเท่ากับคุณภาพชีวิต จึงเห็นควรว่าจำเป็นต้องพัฒนาการศึกษาให้ครอบคลุม วางรากฐานทั้งระบบ โดยเฉพาะต้องคิดฐานการรองรับเด็กคนรุ่นใหม่ เพื่อให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ มีจำนวนสัดส่วนประชาชน ทั้งเด็ก วัยแรงงาน วัยสูงอายุให้เหมาะสม และเห็นควรให้สอบถามความเห็นจากประชาชนทั่วประเทศเพิ่มมากขึ้น นอกเหนือจากการเปิดช่องทางรับฟังแล้ว แต่จำนวนประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมแสดงความเห็นน้อย
นายวิสุทธิ์ ชี้แจงว่า การเพิ่มจำนวนเงินลดหย่อน ต้องดูความยั่งยืนของฐานะการคลังของประเทศให้มีความสมดุล ขณะที่ มีการเสนอให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการฝากครรภ์ คลอดบุตร ด้วยแล้ว ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เคยหารือ เพื่อหามาตราเชื่อมโยงทั้งระบบ พร้อมรับข้อสังเกตของสมาชิกไปพิจารณาต่อไป
ที่สุดแล้วที่ประชุม สนช. ลงมติด้วยคะแนนเอกฉันท์ 176 เสียง รับหลักการร่างกฎหมายดังกล่าว พร้อมตั้ง กรรมาธิการ 15 คน แปรญัตติ 7 วัน มีกรอบดำเนินงาน 30 วัน .- สำนักข่าวไทย