กรุงเทพ ฯ 27 มิ.ย. –
เปิดดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย-จีน ครั้งแรกในรอบ 108 ปี อยู่ที่ 66.3
พบเจ้าสัวมั่นใจเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ปี 2561 ปรับดีขึ้น
แรงส่งจากส่งออกและการลงทุนในประเทศ ยกเว้นกลุ่มค้าส่ง
ค้าปลีกกังวลกำลังซื้อยังไม่ฟื้นเต็มที่
นายชโยดม สรรพศรี อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์
จุฬาลงกรุงเทพ และผู้อำนวยการโครงการ เปิดเผยว่า
ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย-จีน จัดทำเป็นครั้งแรกในรอบ 108 ปี
จากการรวบรวมความเห็นข้อมูลด้านเศรษฐกิจจากสมาชิก 500 ราย และสมาพันธ์หอการค้าไทย
-จีน จำนวน 8,000 ราย ซึ่งเป็นเจ้าของกิจการที่ลงทุนในไทย และใช้เวลาสำรวจประมาณ 1
ปี พบว่า ดัชนีภาพรวมเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ปี 2561 ปรับดีขึ้น ดัชนีอยู่ที่
66.3 จากไตรมาสแรกดัชนีอยู่ที่ 64
โดยจากผลการสำรวจครั้งนี้ไม่มีผู้ประกอบการจากภาคการผลิตใดเลยที่คาดว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยจะลดลง
ปัจจัยที่สนับสนุนการเร่งขยายตัวของเศรษฐกิจ
คือการส่งออกที่ยังเติบโตต่อเนื่อง มีค่าดัชนีที่ 59.7 แม้จะลดลงจากไตรมาสแรกเล็กน้อยที่มีค่าดัชนีที่
62.1 โดยเชื่อว่าการส่งออกยังเป็นแรงส่งออกที่สำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย
ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนปรับดีขึ้น ค่าดัชนีอยู่ที่ 56.8 เพิ่มขึ้นจาก 55
การลงทุนภาคเอกชน ค่าดัชนีอยู่ที่ 53.8 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกที่ 52.9
อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการจากภาคขายส่ง ขายปลีก
โรงแรม และอาหารที่มองว่าเศรษฐกิจบางส่วนอาจจะไม่ดีมากเท่าที่ควร
เพราะยอดขายทั้งในประเทศและต่างประเทศยังปรับตัวลดลง แม้จำนวนลูกค้าและการจ้างงานจะไม่เปลี่ยนแปลงก็ตาม
แต่ต้นทุนการบริการกลับปรับสูงขึ้น
รวมถึงการแข่งขันสินค้าไทยกับคู่แข่งเพิ่มสูงขึ้น
แต่ผู้ประกอบการยังเชื่อว่ากำลังซื้อในประเทศที่กำลังจะฟื้นตัวจะช่วยบรรเทาความกังวลของผู้ประกอบการได้
นอกจากนี้ผลสำรวจผู้ประกอบการในภาคการผลิตยังมีความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ย
โดยส่วนใหญ่คาดว่าดอกเบี้ยจะปรับสูงขึ้น และ
คาดการณ์ว่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ
นายจิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี
ประธานหอการค้าไทย-จีน กล่าวว่า ปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีนยังเป็นปัจจัยกดดันการค้าโลก
และ เศรษฐกิจไทย ซึ่งยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
เนื่องจากมาตรการกีดกันทางการค้าจะกระทบไม่ใช่เฉพาะสหรัฐ
และจีนเท่านั้นแต่จะส่งผลทางอ้อมต่อไทย เอเชีย และยุโรป
เนื่องจากสินค้าที่ได้รับผลกระทบเช่น ชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิกส์และเทคโนโลยี มีซัพพลายเชน
ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมทั่วโลก อย่างไรก็ตามยังมั่นใจว่าทั้งสหรัฐ และ จีน
จะมีทางออกของปัญหาร่วมกันในทางที่ดี
เพราะมาตรการกีดกันทางการค้าไม่เป็นผลดีกับประเทศใด
และยังส่งผลกระทบระยะสั้นให้เกิดความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน
ทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงค่อนข้างเร็ว จากระดับ 32 บาท มาอยู่ที่ 33
บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นผลดีต่อการส่งออกสินค้าของไทยให้ขยายตัวขึ้น.-สำนักข่าวไทย