กรุงเทพฯ 19 มิ.ย. – SUPER ลุ้นพีดีพีใหม่ รัฐบาลจะหนุนพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นในสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 30 รวมถึงส่งเสริมค่าไฟฟ้าให้แข่งขันได้กับเชื้อเพลิงฟอสซิลในอนาคต มั่นใจรายได้เพิ่มไม่ต่ำกว่าร้อยละ 25 พร้อมลงทุนหมื่นล้านบาทในไทยและเวียดนามปีหน้า
นายจอมทรัพย์ โลจายะ ประธานคณะกรรมการ บมจ.ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น (SUPER) กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนรอแผนพัฒนากำลังไฟฟ้าระยะยาว 20 ปี หรือพีดีพี ที่จะจัดทำเสร็จเดือนกันยายนนี้ว่าจะเป็นอย่างไร โดยจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง ต้นทุนพลังงานทดแทนที่ลดลง ภาครัฐน่าจะเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนให้มากกว่าร้อยละ 30 จากแผนเดิม เพื่อเพิ่มการลงทุนในประเทศ และลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล ทั้งถ่านหินและก๊าซธรรมชาติที่ต้องนำเข้าเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม อัตราการซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนก็ควรจะต้องเหมาะสม แข่งขันได้กับการนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิลในอนาคต ไม่ใช่นำมาเปรียบเทียบกับราคาขายส่งไฟฟ้าในปัจจุบันที่ประมาณ 2.44 บาท/หน่วย
“ไทยต้องพึ่งพาก๊าซฯ ถ่านหินนำเข้า รวมทั้งซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ ดังนั้น ค่าไฟฟ้ารับซื้อจากพลังงานทดแทนควรแข่งขันกับเชื้อเพลิงเหล่านี้ในอนาคตได้ด้วย หากกระทรวงพลังงานสนับสนุนจะก่อให้เกิดการลงทุนในไทยอีกมาก โดยเฉพาะกรณีการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะ หากกำหนดเกณฑ์ต่ำมากเกินไปจะทำให้แผนแก้ปัญหาขยะล้นกำจัดมลพิษไม่ประสบความสำเร็จ ส่วนการทำแผนพีดีพีรายภาคอาจจะทำได้ยากเมื่อประเทศไทยมีสายส่งเชื่อมโยงที่ดีแล้ว ก็ควรใช้พีดีพีรวม และส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าในพื้นที่เหมาะสม”นายจอมทรัพย์ กล่าว
นายจอมทรัพย์ กล่าวด้วยว่า จากที่นโยบายพลังงานทดแทนของประเทศยังต้องรอแผนพีดีพีใหม่ ทางเอกชนได้ปรับตัวไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น โดยในส่วนของบริษัทเริ่มลงทุนพลังงานลมในเวียดนาม 700 เมกะวัตต์ ลงทุนรวมกว่า 50,000 ล้านบาท ใน 5 ปี บริษัทถือหุ้นโครงการนี้ร้อยละ 51 และเตรียมโครงการโซลาร์ฟาร์มในเวียดนามอีก 200 เมกะวัตต์ ซึ่งรัฐบาลเวียดนามประกาศจะรับซื้อและลงนามสัญญาเดือนกันยายน-ตุลาคมนี้ หากได้รับการอนุมัติจะต้องลงทุนเริ่มขายไฟฟ้าเดือนมิถุนายน 2562 ขณะเดียวกันศึกษาเพื่อลงทุนในไต้หวัน ฟิลิปปินส์ และเกาหลีใต้ ส่วนการลงทุนพลังงานแสงอาทิตย์ 20 เมกะวัตต์ในจีน ได้ยกเลิกโครงการแล้ว เนื่องจากนโยบายรัฐบาลจีนลดการสนับสนุนพลังงานทดแทน ด้วยการลดอัตรารับซื้อค่าไฟฟ้า ทำให้ผลตอบแทนของบริษัทไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่การลงทุนแต่ละโครงการต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 13-15
ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานในประเทศมีสัญญาซื้อขายแล้ว (พีพีเอ) ประมาณ 840 เมกะวัตต์ แยกเป็นโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ 800 เมกะวัตต์ โดยผลิตไฟฟ้าแล้ว 743 เมกะวัตต์ ที่เหลือระหว่างก่อสร้าง เช่น โซลาร์สหกรณ์ 28 เมกะวัตต์ ขายไฟฟ้าตามสัญญาเดือนธันวาคมปีนี้ นอกจากนี้ ในส่วนของพีพีเอ ยังมีโรงไฟฟ้าขยะอีก 40 เมกะวัตต์ จำนวนนี้จ่ายไฟฟ้าแล้วเป็นขยะอุตสาหกรรมใน จ.สระแก้ว 9.9 เมกะวัตต์ ที่เหลือเป็นขยะชุมชนในจังหวัดหนองคาย 8 เมกะวัตต์ ,จังหวัดพิจิตร 9.9 เมกะวัตต์ โดย 2 โครงการนี้จะขายไฟฟ้าเข้าระบบปลายปี 2562 อีกโครงการอยู่ที่กำลังผลิตผลิต 9.9 เมกะวัตต์ ผลิตไฟฟ้าในปี 2563
ล่าสุดบริษัทยังได้รับการคัดเลือกจากจังหวัดนนทบุรีเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าขยะ 20 เมกะวัตต์ ด้วยเทคโนโลยี plasma gasification วงเงินลงทุนประมาณ 5,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม โครงการนี้จะลงนามในสัญญาเมื่อใดนั้น คงต้องรอความชัดเจนนโยบายด้านการสนับสนุนจากกระทรวงพลังงานและกระทรวงมหาดไทยที่ชัดเจนเสียก่อน
นายจอมทรัพย์ กล่าวว่า จากโครงการทั้งหมดทำให้บริษัทเชื่อมั่นว่ารายได้จะเป็นไปตามแผนรายได้ขยายตัวราวร้อยละ 20-25 ต่อเนื่อง 5 ปี จากที่ปี 2560 มีรายได้ประมาณ 5,397 ล้านบาท ดังนั้น ปีนี้คาดว่าจะมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 6,000 ล้านบาท มีกระแสเงินสดประมาณ 5,200 ล้านบาท ดังนั้น ส่วนนี้จึงสามารถชำระหนี้ระยะยาว 22,000 ล้านบาท อายุหนี้ 12-14 ปีอย่างไม่มีปัญหา โดยโครงการลงทุนส่วนใหญ่จะเป็นการกู้ราวร้อยละ 70 โดยปีหน้าจะลงทุนประมาณ 10,000 ล้านบาทในเวียดนามและโรงไฟฟ้าขยะในไทย จำนวนนี้จะเป็นส่วนเงินทุนของบริษัทราว 2,400 ล้านบาท
สำหรับเงินแผนการเงินทั้งรีไฟแนนซ์และลงทุนโครงการใหม่ ที่ประชุมผู้ถือหุ้น ได้อนุมัติออกหุ้นกู้ทั้งในและต่างประเทศ 36,000 ล้านบาท โดยปีนี้จะออกหุ้นกู้ล็อตแรก 500 ล้านบาท และเตรียมแผนการตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (IFF ) มูลค่า 9,000 ล้านบาท จะยื่นไฟลิ่งต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม หลังจากเกณฑ์ต่างออกมาชัดเจน และเข้าซื้อขายภายเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2561. -สำนักข่าวไทย