วธ.13 มิ.ย.-ก.วัฒนธรรม สืบทอดประเพณีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขน จัดงาน 16-18 มิ.ย.นี้ ที่ จ.เลย ดึง 5 ชาติร่วมโชว์ มหกรรมหน้ากากนานาชาติ ปี 2561 พร้อมเตรียมผลักดันผีตาโขนเป็นมรดทางวัฒนธรรม
นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ) เป็นประธานแถลงข่าวจัดงาน“ประเพณีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขน มหกรรมหน้ากากนานาชาติ ประจำปี 2561” โดยมีผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ,นายพรชัย ถมกระจ่าง รองผู้ว่าราชการ จ.เลย หัวหน้าคณะนักแสดงจากราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม พร้อมด้วยผู้แทนหน่วยงานต่างๆ และเครือข่ายด้านวัฒนธรรม เข้าร่วม
นายวีระ เปิดเผยว่า งานดังกล่าวเป็นการสืบทอดและสร้างความตระหนักในคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมถึงส่งเสริมความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมและเชื่อมโยงกับนานาชาติด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลประเทศไทย 4.0 เดินหน้าปฏิรูปประเทศไทยสู่ความมั่งคง มั่งคั่งและยั่งยืนโดยใช้อุตสาหกรรมสร้างสรรค์วัฒนธรรม การบริการที่มีมูลค่าสูงและเทคโนโลยีการออกแบบ 5 สาขา ในการขับเคลื่อนประเทศไทย อาทิ อาหาร ภาพยนตร์ แฟชั่น มวยไทย และประเพณีในการสร้างรายได้ ตลอดจนเสริมสร้างความพันธ์อันดีกับนานาชาติและภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ เบื้องต้นเตรียมผลักดันให้ผีตาโขนขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของโลก ต่อจากการแสดงโขนที่ได้เสนอยูเนสโกไปก่อนหน้านี้
ด้าน รองผู้ว่าฯ จ.เลย กล่าวถึงกิจกรรมสำคัญ ประกอบด้วย ขบวนแห่ผีตาโขน ขบวนแห่เจ้าพ่อกวน-เจ้าแม่นางเทียม และคณะพ่อแสน พิธีจุดบั้งไฟบูชาพญาแถน การจำหน่ายผลิตภัณฑ์พื้นเมือง การประกวดหน้ากากผีตาโขน รวมทั้งการแสดงหน้ากากนานาชาติ ปีนี้มีคณะนักแสดงจากประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศคู่เจรจาตอบรับเข้าร่วมงาน 5 ประเทศ 1.กัมพูชา โดยเป็นคณะนักแสดงจากกรมศิลปะการแสดง กระทรวงวัฒนธรรมและวิจิตรศิลป์ ราชอาณาจักรกัมพูชา จัดแสดงหน้ากากพื้นบ้าน ชุด ระบำชาวนา ซึ่งแสดงถึงช่วงฤดูการเพาะปลูก โดยชาวนาชาวไร่มักจะทำหุ่นไล่กาขึ้นเพื่อปกป้องพืชผลในท้องไร่ท้องนา ผู้แสดงจะแต่งกายเลียนแบบหุ่นไล่กา
2.สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) โดยคณะหุ่นกะบองลาวจัดการแสดงชุด ระบำหน้ากากผีเซื้อ เป็นการแสดงระบำหน้ากากพื้นบ้านแบบดั้งเดิมของเมืองปากลายเพื่อบูชาผีเซื้อ หรือในภาษาไทยเรียกว่า ผีเชื้อ หมายถึงผีบรรพบุรุษ
3.เมียนมา คณะนักแสดงวัฒนธรรมรามายณะแห่งเมียนมา เป็นหนึ่งในคณะนักแสดงที่มีชื่อเสียงของกรมศิลปากรภายใต้กระทรวงศาสนาและวัฒนธรรม แสดงรามายณะ ตอน พระรามตามกวาง
4.เวียดนาม นำศิลปะการแสดง “Tuong” มาจัดแสดง 2 ชุด ได้แก่ การแสดงชุด ‘ระบำ Tu Tru’ นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับสัญลักษณ์ยิน-หยาง ความสมดุลของพลังจักรวาล และทิศต่างๆตามความเชื่อของประเทศฝั่งตะวันออก มักจะแสดงในงานพิธีสำหรับการต้อนรับ และขอพรให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองสงบสุขแก่ประเทศ และการแสดงชุด ‘ออนดินห์สังหารทา’ ซึ่งมีลักษณะคล้ายการแสดงงิ้ว เป็นเรื่องราวของ Khuong Lin Ta และ Dong Kim Lan สองเพื่อนรักที่ต้องการปกป้องกษัตริย์ปกป้องเมืองด้วยการพิทักษ์เจ้าชายและพระสนมที่ถูกศัตรูจับตัวไป จึงเกิดเป็นเรื่องราวการต่อสู้และผจญภัยของเพื่อนรักทั้งสอง
และ 5.เกาหลีใต้ จัดการแสดงในชุด ละครฮาโฮ เบียวซินกุต ทัลลอรี เป็นละครรำหน้ากากพื้นบ้านที่มาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 17 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมประจำปีของหมู่บ้านฮาโฮ แห่งเมืองอันดง เพื่อบูชาพระเจ้าความเจริญรุ่งเรือง และความอุดมสมบูรณ์ด้านเกษตรกรรม
ทั้งนี้ คาดว่ามีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศสามารถเข้าร่วมชมงานไม่ต่ำกว่า 1 แสนคน รายได้สะพัดสู่ท้องถิ่นประมาณ 10-15ล้านบาท
สำหรับงานการละเล่นผีตาโขนและมหกรรมหน้ากากนานาชาติ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 16–18 มิ.ย.2561 ณ หน้าที่ว่าการอำเภอด่านซ้าย จ.เลย โดยมีพิธีเปิดงานวันที่ 16 มิถุนายน เวลา 18.00 น. ณ โรงเรียนอนุบาลด่านซ้าย จ.เลย .-สำนักข่าวไทย