กระทรวงต่างประเทศ 6 มิ.ย. – รัฐบาลเชิญทูตต่างประเทศรับทราบแผนลงทุน EEC ย้ำ 6 โครงการขนาดใหญ่ปลายปีนี้ทราบรายชื่อผู้ชนะประมูล เสนอ ครม. ม.ค.-ก.พ. 62 ทีมเศรษฐกิจเดินหน้าโรดโชว์นักลงทุนยุโรป เอเชีย ตั้งกองทุนดูแลพื้นที่ ตั้งผังเมืองใหม่ เพื่อสร้างความมั่นใจ ย้ำศูนย์ซ่อมอากาศยานพร้อมเปิดรับเอกชนทุกราย ร่วมพัฒนาศูนย์กลางการบินภาคตะวันออก
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ชี้แจงข้อมูลให้แก่คณะผู้แทนทางการทูตและกงสุลที่ประจำการในประเทศไทยรับทราบเกี่ยวกับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในหัวข้อ “The Eastern Economic Corridor (EEC) : Taking Off” เพื่อชี้แจงภาพรวมแผนการลงทุนในเขตอีอีซีให้เอกอัครราชทูตต่างชาติ เพื่อนำไปแนะนำกับเอกชนในต่างประเทศที่สนใจเข้ามาขยายการลงทุนในประเทศไทย เพราะหลังจากกฎหมายอีอีซีผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และย้ำว่าโครงการลงทุนที่ดีมีความจำเป็นรัฐบาลชุดต่อไปจะสานต่อโครงการลงทุน ทำให้เกิดความมั่นใจกับต่างชาติในการดูแลโครงการลงทุนให้ครอบคลุม
โดยเฉพาะรัฐบาลเตรียมจัดตั้งกองทุนสำหรับดูแลประชาชนในพื้นที่ กำลังศึกษาแหล่งที่มาของรายได้เงินกองทุนให้เหมาะสม วัตถุประสงค์การใช้เงิน สำหรับการดูแลสวัสดิการ การดูแลสุขภาพ เพื่อรองรับผลกระทบจากการลงทุน การศึกษาแรงงานคุณภาพ นอกจากนี้ ยังเดินหน้าวางผังเมืองใหม่ให้เป็นระบบทั้งการอยู่อาศัย ภาคอุตสาหกรรม คาดว่าจะเสร็จภายใน 1 ปี เมื่อแผนทุกด้านเริ่มคืบหน้ารัฐบาลจึงเริ่มออกไปโรดโชว์ชี้แจงนักลงทุนต่างประเทศนำร่องช่วงโอกาส พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เยือนประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้นัดนักลงทุนมารับฟังนับ 100 ราย รัฐบาลยังเตรียมออกไปโรดโชว์ประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลี เพราะนักลงทุนเหล่านี้ได้มาเยือนไทยหลายครั้ง จึงต้องออกไปชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับความคืบหน้าโครงการลงทุน เพื่อดึงมาประมูลการลงทุน
นอกจากนี้ การบินไทยและแอร์บัสยังเตรียมลงนามร่วมพัฒนาศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) อย่างเป็นทางการ หลังจากลงนามร่วมการศึกษาแผนช่วงที่ผ่านมา นับว่าเป็นโครงการนำร่องในอีอีซีอีกด้านหนึ่ง เพราะรัฐบาลเตรียมพื้นที่ MRO ประมาณ 600 ไร่ ในส่วนการบินไทยและแอร์บัสต้องการพื้นที่ 200 ไร่ แอร์เอเชีย 70 ไร่ เอกชนญี่ปุ่น รวมถึงโบอิ้ง เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการบินภาคตะวันออกต้องมีความพร้อมทั้งศูนย์ซ่อมอากาศยาน การสร้างอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอากาศยาน สนามบินอู่ตะเภา สำหรับความร่วมมือของการบินไทยและแอร์บัสเมื่อชัดเจนจะเริ่มคัดเลือกเอกชนรายอื่นเพิ่มช่วงต้นปีหน้า ความเหมาะสมของศูนย์ซ่อมอากาศยานรัฐบาลต้องการประมาณ 3 ราย
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า หลังจากประกาศเงื่อนไขการประมูล (TOR) แผนการลงทุน EEC ชัดเจนแล้ว จะนำหลักเกณฑ์การร่วมลงทุนแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) ไปใช้กับโครงการลงทุนอื่นในลักษณะเดียวกัน ซึ่งจะทำให้ทุกโครงการคืบหน้าไปได้อย่างรวดเร็ว เมื่อทุกโครงการเสนอ ครม.ก่อนช่วงเลือกตั้งจะทำให้เกิดความมั่นใจว่าหลังเลือกตั้งจะมีการสานต่อโครงการให้ต่อเนื่องจากรัฐบาลใหม่
สำหรับ 6 โครงการสำคัญในพื้นที่อีอีซีที่รัฐบาลเร่งผลักดันให้สำเร็จในรูปแบบ PPP ประกอบด้วย สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เปิดรับฟังความเห็นจากนักลงทุน 15 มิ.ย.นี้ กำหนดเลือกผู้ชนะการประมูลแล้วเสร็จเดือนตุลาคม 2561 เพื่อเสนอบอร์ดอีอีซี ครม.เดือนพฤศจิกายน ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา คัดเลือกเอกชนได้เสร็จเดือนธันวาคม รถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (อู่ตะเภา สุวรรณภูมิ ดอนเมือง) เริ่มประกาศเชิญชวนเอกชนเข้าลงทุน เมื่อวันที่ 30 พ.ค.ที่ผ่านมา คัดเลือกเอกชนเสร็จเดือนธันวาคม ท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 เปิดรับฟังความเห็นนักลงทุนครั้งที่ 3 เดือนกรกฎาคมนี้ ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด เฟส 3 และดิจิทัลปาร์ค (EECd) คัดเลือกเอกชนเดือน ธ.ค. รวมวงเงินลงทุนทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า 600,000 ล้านบาท เพื่อเร่งรัดให้ได้ผู้ชนะการประมูลทั้ง 6 โครงการภายในปีนี้ รวมถึงโคงรการอื่น เช่น เช่น ดิจิทัลปาร์ค EECi และโรงเรียนช่างอากาศยาน เพื่อพัฒนาบุคลากรด้านการบินและอวกาศอู่ตะเภา เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ในส่วนของการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม Smart Park ได้จัดเตรียมพื้นที่รองรับอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร อุตสหากรรมวิจัยและพัฒนา โลจิสติกส์ การบินและอวกาศ อุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์และจักรกล ดิจิทัลเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต ปัญญาประดิษฐ์ ขณะนี้รายละเอียดแผนลงทุนคืบหน้าร้อยละ 80 ก่อสร้างเสร็จปี 2564 จัดสร้างอาคารจอดรถโรโบติกส์ มากกว่า 4,000 คัน ศูนย์การค้าบนพื้นที่ 52 ไร่ มูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาท
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ชี้แจงว่า การชี้แจงแผนลงทุนความคืบหน้าโครงการลงทุนครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มี พ.ร.บ.การพัฒนาพื้นที่เป็นการเฉพาะ จึงทำให้เกิดความต่อเนื่องในการลงทุนทั้งภาครัฐและภาคเอกชนกว่า 1.5 ล้านล้านบาท โดยมีทั้งองค์กรกำกับดูแลอย่างถาวร กระบวนการทำงานอย่างชัดเจน เป็นกฎหมายที่ดีที่สุดสำหรับนักลงทุน ขณะที่นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญมากในการให้สิทธิประโยชน์ที่ไม่แพ้ประเทศใดในโลก ไม่ว่าจะในเชิงสิทธิประโยชน์ทางภาษี และมีศูนย์ One-stop Service เพื่อบริการนักลงทุนอย่างครบวงจร เมื่อต่างชาติมองเห็นว่าเศรษฐกิจเอเชียจะเติบโตอีก 2-3 เท่าตัว และไทยเป็นศูนย์กลางภูมิภาคดังกล่าว เมื่อเห็นว่าอีอีซีกำลังถูกผลักดัน นักลงทุนจึงไหลเข้ามาปักหมุดลงทุนยังไทยจำนวนมาก จากความพร้อมทั้งสนามบิน รถไฟฟ้า ท่าเรือ
นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า บีโอไอ ออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนในอีอีซี เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนพัฒนาพื้นที่เชิงอุตสาหกรรม และพัฒนาเมืองในการ ยกระดับพื้นที่ และตั้งอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง จะได้รับสิทธิ์และประโยชน์เพิ่มจากการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยจะให้ได้รับลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับกำไรสุทธิที่ได้จากการลงทุนในอัตราร้อยละ 50 ของอัตราปกติ เป็นระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันที่กำหนดระยะเวลา การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสิ้นสุดลงและอื่น ๆ ซึ่งทั้งหมดมั่นใจว่าจะทำให้เกิดการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุน ภาพรวมปีนี้เป็นไปตามเป้าหมาย 720,000 ล้านบาท ขณะที่ยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนไตรมาสแรกปีนี้ในเขตอีอีซี 100,000 ล้านบาท.-สำนักข่าวไทย