กรุงเทพฯ 4 มิ.ย. – BGRIM ยืนยัน กฟผ.ยังไม่ปิดโอกาสการย้ายที่ตั้ง 2 โรงไฟฟ้าเอสพีพี เล็งเสนอพื้นที่ใหม่ไปจังหวัดอ่างทอง ด้าน กฟผ.ระบุพร้อมพิจารณาข้อเสนอ แต่ต้องดูด้านความจำกัดการก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าด้วย
นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการหารืออย่างใกล้ชิดกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในเรื่องการย้ายสถานที่ตั้ง 2 โรงไฟฟ้าโครงการเอสพีพีของบริษัทที่เกิดปัญหาเรื่องการยุบเขตและนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดราชบุรี ซึ่งขณะนี้ยังมีเวลาหารือ เพราะเริ่มต้นซื้อขายไฟฟ้า (SCOD) เพื่อให้โรงไฟฟ้าเปิดดำเนินการซื้อขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ภายในวันที่ 1 มิถุนายน 2564 ขณะที่โรงไฟฟ้ามีระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 24-26 เดือน ดังนั้น จึงมีเวลาดำเนินการ ซึ่งจากการหารือล่าสุด กฟผ.ให้ความเห็นเบื้องต้นว่าภาคกลางยังสามารถรับไฟฟ้าได้ ดังนั้น ทาง BGRIM จึงจะเสนอว่าจะย้ายโรงไฟฟ้าไปภาคกลาง ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจาเรื่องพื้นที่ มั่นใจจะสรุปได้อย่างชัดเจน
“มั่นใจว่าย้ายเอสพีพีได้100 เปอร์เซ็นต์ เพราะเป็นเรื่องสุดวิสัย และมีสัญญาชัดเจน ขณะนี้จะมีพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มเกิดใหม่ ใน จ.อ่างทอง มีความต้องการทั้งไฟฟ้าและไอน้ำมากกว่ากำลังผลิตเดิมใน จ.ราชบุรี โดยอยู่ระหว่างหารือ ซึ่งกรณี กฟผ.เห็นว่าภาคตะวันออกสายส่งเต็มและสามารถสร้างได้ในภาคกลาง พื้นที่อ่างทองก็เป็นหนึ่งในทางเลือกที่ BGRIM กำลังเสนอ กฟผ.” นางปรียนาถ กล่าว
นางปรียนาถ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เสนอพื้นที่ตั้งใหม่ภายในนิคมอุตสาหกรรมเอเชีย (สุวรรณภูมิ) จ.สมุทรปราการ ซึ่งเป็นสถานที่ที่มุ่งประโยชน์ในการส่งเสริมและสนับสนุนการลงทุนจากทั้งในและต่างประเทศ และเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าให้กับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ( EEC ) เนื่องจากนิคมอยู่ใกล้บริเวณส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคตะวันออก ซึ่งมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง อย่างไรก็ตาม กฟผ.แจ้งว่าหากสร้างตรงจุดดังกล่าว ทาง กฟผ.ต้องปรับปรุงสถานีจ่ายไฟฟ้าหนองจอก ซึ่งต้องลงทุนเพิ่ม ทาง BGRIM ก็พร้อมจะร่วมลงทุน 100-200 ล้านบาท ซึ่งกรณีนี้ยังอยู่ในข้อเสนอทางเลือก ขณะเดียวกันเจ้าของนิคมฯ เอเชียได้เข้าพบนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน โดยขอให้สนับสนุนให้เกิดโรงไฟฟ้าในนิคมฯ เพื่อให้เกิดความมั่นใจการรองรับนักลงทุน EEC ซึ่ง รมว.พลังงานรับทราบและสนับสนุนในเรื่องความมั่นคงทางพลังงาน
นายศิริ กล่าวว่า ในเรื่องดังกล่าวคู่สัญญาคงต้องดูรายละเอียดต่อไป
นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่าการพลังงานหมุนเวียนและพลังงานใหม่ และโฆษก กฟผ.กล่าวว่า การย้ายพื้นที่โรงไฟฟ้าเอสพีพี แม้ตามหลักการจะดำเนินการได้ แต่ก็ต้องดูภาพรวมในเรื่องการก่อสร้างสายส่งไฟฟ้ารองรับด้วยว่าจะดำเนินการได้ตรงกันหรือไม่ เพราะแผนงานก่อสร้างสายส่งไฟฟ้า กรณีการย้ายโรงไฟฟ้า ก็ต้องมีการขออนุม้ติแผนใหม่ทั้งหมด และต้องมีการจัดการทำการรับฟังความเห็นประชาชนในพื้นที่ หากต้องมีการรอนสิทธิ์ก็ต้องใช้เวลานาน โดยขณะนี้การก่อสร้างสายส่งใช้เวลานานกว่าระยะเวลาก่อสร้างโรงไฟฟ้าเสียอีก ซึ่งในกรณีภาคตะวันออก กฟผ.อยู่ระหว่างเร่งก่อสร้างสายส่งรับโรงไฟฟ้าไอพีพี 2 โรง จากกลุ่มกัลฟ์อีก 5,000 เมกะวัตต์ ซึ่งทราบกันดีว่าสายส่งเต็มและความต้องการอาจจะสูงกว่ากำลังผลิต ส่วนกรณีข้อเสนอย้าย 2 โรงไฟฟ้าเอสพีพีของ BGRIM ไปภาคกลางคงต้องดูถึงแผนก่อสร้างสายส่งและสัญญารับซื้อไฟฟ้าจะตรงกันหรือไม่ หากก่อสร้างสายส่งใหม่รับไฟฟ้าช้ากว่าสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในเรื่องนี้ก็คงเป็นเรื่องยาก
ทั้งนี้ 2 โรงไฟฟ้าเอสพีพีของ BGRIM อยู่ระหว่างดำเนินการขอย้ายที่ตั้งโรงไฟฟ้าโครงการ บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ (ราชบุรี) 1 จำกัด (BGPR 1)และ บริษัท บี.กริม เพาเวอร์(ราชบุรี) 2 จำกัด (BGPR 2) กำลังการผลิตรวม 240 เมกะวัตต์ ซึ่งลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2554 ต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ซึ่งเป็นการดำเนินการตามระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กประเภทสัญญา Firm ระบบ Cogeneration พ.ศ. 2553 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2554) (ระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าเอสพีพี) เนื่องจากประกาศคณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เรื่อง ยุบเขตอุตสาหกรรมทั่วไป นิคมอุตสาหกรรม วี.อาร์.เอ็ม.ราชบุรี เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2558โดยกระบวนการอนุมัติการย้ายที่ตั้งโรงไฟฟ้า ทางบริษัทฯ ได้ติดต่อประสานงานไปที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง กกพ.และ กฟผ.ในฐานะคู่สัญญา เพื่อพิจารณาความพร้อมของจุดเชื่อมโยงไฟฟ้าและสายส่งไฟฟ้าของที่ตั้งโรงไฟฟ้าแห่งใหม่
นางปรียนาถ ยังกล่าวถึงราคาหุ้นที่ลดลงมากในช่วงนี้ ว่า อยากให้นักลงทุนมองถึงการเติบโตของ BGRIM ที่ยังมีโอกาสทั้งในและต่างประเทศ เช่น เวียดนาม อยู่ระหว่างก่อสร้างแล้ว 420 เมกะวัตต์ และกำลังเจรจาอีกหลายโครงการ ขณะที่เมื่อ วันที่ 1 มิ.ย. โครงการเอสพีพี 133 เมกะวัตต์ โครงการ ABPR4 ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จ่ายไฟเชิงพาณิชย์แล้ว ทำให้กำลังการผลิตปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 1,912 เมกะวัตต์โดยมั่นใจจะเดินหน้าตามเป้าหมายที่วางไว้ สิ้นปีนี้จะมีกำลังผลิตไฟฟ้ายืนเหนือ 2,000 เมกะวัตต์ ช่วยหนุนหนุนรายได้และกำไรเติบโตอย่างแข็งแกร่ง. –สำนักข่าวไทย