กรุงเทพฯ 21
พ.ค.- ราคาน้ำมันเฉียด 80ดอลลาร์/บาร์เรล พ่นพิษ ราคาก๊าซหุงต้ม ขยับทุกสัปดาห์
พรุ่งนี้ขึ้นอีก1.5 บาท/กก.หรือ 23 บาท/ถัง 15 ก.ก. กบง.จับตา ประชุม 4 มิ.ย.หาทองอุดหนุน
เงินกองทุนใกล้หมด ด้าน ก.พลังงานหารือรับดีเซล 30 บาท กฟผ.
ออกโรงเตือนประชาชนประหยัด รับมือต้นทุนค่าไฟฟ้าแพงขึ้นใน 6 เดือนข้างหน้า
นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี
รองผู้ว่าการพลังงานหมุนเวียนและพลังงานใหม่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะโฆษก กฟผ.
กล่าวว่า ต้องขอเตือนประชาชนให้เร่งประหยัดพลังงานกันอย่างต่อเนื่อง
เพราะจากราคาน้ำมันดิบที่พุ่งขึ้นมาอยู่ระดับเกือบ 80 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล นั้น
จะสะท้อนไปยังต้นทุนค่าไฟฟ้าอัตโนมัติหรือเอฟที ที่จะปรับเพิ่มขึ้นตาม ใน 6
เดือนข้างหน้า หรือราวเดือน พ.ย.2561 นี้ อย่างไรก็ตาม
ค่าไฟฟ้าจริงจะปรับขึ้นหรือไม่ขึ้นกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)
จะเป็นผู้พิจารณา
ซึ่งอาจจะมีการเกลี่ยต้นทุนต่างๆทำให้ค่าไฟฟ้าในปีนี้อาจจะไม่ปรับขึ้นก็ได้
นายสหรัฐกล่าวว่า ต้นทุนค่าไฟฟ้าที่จะสูงขึ้นใน
6 เดือนข้างหน้า เกิดจากสูตรราคาก๊าซธรรมชาติในประเทศ
ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้าประมาณร้อยละ 60 จะปรับขึ้นย้อนหลังราคาน้ำมันเตา
6 เดือน โดยคำนวณจากน้ำมันเตาร้อยละ 30 โดยก๊าซฯเป็นเชือ้เพลิงทั้งโรงไฟฟ้าของ กฟผ.
โรงไฟฟ้าของภาคเอกชนทั้งไอพีพีและเอสพีพี นอกจากนี้
ค่าไฟฟ้าจากชีวมวลกํจะขยับขึ้นเช่นกัน เพราะผูกติดกับราคาน้ำมัน
“ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า
สูตรผูกกับราคาน้ำมันเตาย้อนหลัง 6 เดือน ดังนั้น ต้นทุนค่าไฟฟ้า เดือน
พ.ย.ก็คาดจะเพิ่มขึ้น ซึ่งประชาชนหากต้องการลดผลกระทบก็ต้องประหยัดพลังงาน
ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าเบอร์ 5 เป็นต้น”นายสหรัฐ กล่าว
นายสุเมธ สุทธภักติ
รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
กล่าวว่า จากราคาน้ำมันที่แพงขึ้น ก็เป็นโอกาสที่พลังงานทดแทนจะแข่งขันในด้านต้นทุนได้ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม การเติบโตของพลังงานทดแทนในประเทศในขณะนี้ ขึ้นอยู่กับ
กระทรวงพลังงานจะทบทวนนโยบายที่ประกาศจะไม่รับซ้อเพิ่มใน 5 ปี
หากต้นทุนค่าไฟฟ้าไม่เกิน 2.44 บาทต่อหน่วยหรือไม่ ในขณะเดียว
จากความแข็งแกร่งของผู้ประกอบการในประเทศ ทางภาครัฐก็น่าจะหาทางสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไปเติบโตในต่างประเทศ
เพื่อสร้างรายได้เพิ่ม ซึ่งเรื่องนี้ก็ควรจะมีการสนับสนุนร่วมคล้ายกับสินค้าส่งออก
หรือ การส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศเป็นต้น
ด้านสื่อสังคมออนไลน์
มีการตั้งข้อสังเกตเรื่องราคาน้ำมันมาเลเซียที่ถูกราคาน้ำมันในไทย
จนมีกองทัพมดขนน้ำเถื่อนมาตั้งปั๊มลอยขายตามแนวชายแดนเป็นจำนวนมาก ซึ่งเพจของ
ปตท.ให้ข้อมูลว่า ราคาน้ำมันเป็นสินค้าอิงราคาตลาดโลก
กรณีมาเลเซียเป็นผู้ส่งออกน้ำมัน จึงมีการอุดหนุนราคา ทำให้ราคาขายปลีกอยู่ในเกณฑ์ต่ำมาก ด้าน ผู้ใช้เฟซบุ๊ก
“Pumi
Ngasi “ระบุว่า มาเลเซียนำรายได้จากการผลิตน้ำมันในประเทศเพื่อใช้และส่งออก
มาชดเชย ราคาหน้าปั๊ม ในขณะที่ประเทศไทยมีการผลิตน้ำมันร้อยละ
15 ประเทศไทยมีรายได้จากค่าภาคหลวงและภาษีเงินได้ปิโตรเลียม
และไทยเลือกที่จะนำมาเข้าสู่งบประมาณกลางของประเทศและบางพื้นที่กระจายสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ไม่ได้เอามาชดเชยราคาน้ำมันราคาหน้าปั๊ม
ผู้สื่อด้าน
ราคาก๊าซหุงต้ม สะท้อนราคาน้ำมันพรุ่งนี้ (22 พ.ค. ) ขยับขึ้นอีก โดยรายใหญ่ คือ
บมจ.ปตท.แจ้งคู่ค้า ราคา LPG ภาคครัวเรือนและภาคขนส่ง ปรับเพิ่มขึ้น
1.5485 บาท/กก. (รวม VAT) มีผลตั้งแต่ วันที่ 22 พฤษภาคม 2561 เวลา 00:01
น. ซึ่งจะทำให้ราคาก๊าซฯถังขนาด 15 กก.ปรับขึ้นประมาณ 23 บาทต่อถัง
จากราคาที่ประกาศสัปดาห์ที่แล้วอยู่ที่ 372 บาท/ถัง โดยราคาแอลพีจีของประเทศไทย
มีการปรับเปลี่ยนทุกสัปดาห์อ้างอิงราคาซื้อขายตลาดโลก โดยราคาสัปดาห์ที่แล้ว อยู่ที่
563.6 ดอลลาร์/ตัน ในขณะที่ต้นเดือนเมษายนอยู่ที่ประมาณ 449 ดอลลาร์/ตัน หรือ
ราคาขยับขึ้นถึง 114 ดอลลาร์/ตัน เป็นผลให้ราคาขายปลีกขยับขึ้นเกือบทุกสัปดาห์
โดยปัจจุบันเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง สำหรับแอลพีจีอุดหนุนราว
2.7424 บาท /กก. ทำให้เงินกองทุนไหลออกประมาณ 500
ล้านบาทต่อเดือน
ในขณะที่เงินทุนเหลือสุทธิราว 990
ล้านบาท หากอุดหนุนเพิ่มก็จะทำให้เงินทุนติดลบในช่วงเวลาไม่ถึง 2 เดือน
ในขณะที่เงินกองทุนบัญชีน้ำมันอยู่ที่ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท หากบัญชีแอลพีจีติดลบ
กระทรวงพลังงานก็อยู่ระหว่างการพิจาณารับปัญหา เช่น
บัญชีแอลพีจีอาจจะต้องกู้ยืมเงินจากบัญชีน้ำมันมาอุดหนุนแอลพีจีชั่วคราว และจากราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับสูงขึ้นใกล้ 30
บาท/ลิตร ในวันพรุ่งนี้ กระทรวงพลังงานเตรียมแถลง ลดผลกระทบ โดยเฉพาะ
การเร่งจำหน่ายไบโอดีเซล บี 20 ที่ราคาจะถูกกว่าบี 7 ประมาณ 3 บาทต่อลิตร
โดยจะใช้เฉพาะรถบรรทุกขนาดใหญ่ เรือโดยสาร เป็นต้น
นายทวารัฐ สูตะบุตร
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า นายศิริ จิระพงษ์พันธ์
รมว.พลังงานได้สั่งการให้ติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันและราคาก๊าซฯอย่างใกล้ชิด
ว่าจะกระทบประชาชนอย่างไร
โดยจะนำผลกระทบไปหารือในการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.)
วันที่ 4 มิ.ย.นี้-สำนักข่าวไทย