กทม. 17 พ.ค.-นักวิจัยและผู้ผลิตสารสกัดกัญชาเพื่อการแพทย์ เชื่อว่าการแก้กฎหมายยาเสพติดใหม่ ซึ่งอนุญาตให้วิจัยในคนได้ จะเป็นประโยชน์ต่อแพทย์และผู้ป่วย โดยเฉพาะมะเร็ง ที่รอยาตัวใหม่ๆ โดยไม่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ
ทีมนักวิจัยคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ทดลองนำกัญชาของกลางจำนวน 40 กิโลกรัม ที่ได้รับอนุญาตมาศึกษาวิจัยในเฟสแรก เพื่อหาวิธีการสกัดเอาสารออกฤทธิ์ในกัญชา มาใช้ประโยชน์เป็นยาสมัยใหม่ เบื้องต้นสำเร็จเป็นสเปรย์ฉีดพ่นในช่องปาก บรรเทาความเจ็บปวดและผลข้างเคียงของผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัด และกำลังทดลองในหนู คาดหวังว่ากฎหมายใหม่ที่จะออกมาซึ่งอนุญาตให้นำตัวยาไปทดลองในคนเพื่อให้การวิจัยมีความสมบูรณ์
การวิจัยกัญชาในต่างประเทศ ก้าวหน้าถึงขั้นนำสารสกัดจากกัญชามารักษาได้หลายโรคโดยเฉพาะโรคมะเร็งที่ได้รับการยอมรับทางการแพทย์ว่าใช้ลดอาการปวด คลื่นไส้อาเจียนและแพ้ยาเคมีบำบัด และมีการจดทะเบียนใบอนุญาตให้ใช้ได้ในหลายประเทศ ถึงขั้นนำสารสกัดจากกัญชามารักษาได้หลายโรค เช่น โรคลมชักในเด็ก พาร์กินสัน เอ็มเอส และโรคมะเร็ง
ขั้นตอนการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้สามารถนำสารสกัดจากกัญชารักษาโรคมาทดลองในคนได้ ล่าสุดผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา โดยสาระสำคัญคือการปลดล็อกให้สามารถผลิตนำเข้าส่งออกและครอบครองกัญชา กัญชง กระท่อม ต้นฝิ่น และเห็ดขี้ควาย ซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ได้ รอเพียงการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งต้องใช้เวลาเพราะเป็นการรวมกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด 7 ฉบับ มาไว้ในฉบับเดียวกัน
ผลผูกพันจากร่างกฎหมายฉบับใหม่ที่จะออกมา จะอนุญาตให้ผู้ขอสามารถใช้กัญชาไปทำการวิจัยและผลิตเพื่อการแพทย์เท่านั้น แต่การเสพหรือการใช้ในประเภทอื่น จะยังคงมีความผิดตามกฏหมายยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เช่นเดิม
ผู้เกี่ยวข้องยังเห็นว่า วิธีการนี้จะช่วยเพิ่มมูลค่ากัญชาให้สูงกว่าการใช้เป็นยาเสพติดปกติ และส่งผลกลับให้กัญชาเข้ามาสู่ระบบการแพทย์มากกว่า ซึ่งทำให้ปัญหาการใช้กัญชาเป็นยาเสพติดลดลงไปโดยปริยาย
ปัจจุบัน ยาเสพติดประเภท 5 ที่อนุญาตให้ปลูก เพื่อการวิจัยในพื้นที่ควบคุม เช่น กัญชง อนุญาตให้หน่วยงานราชการปลูกเพื่อการวิจัยในเชิงเศรษฐกิจ กระท่อม วิจัยในมุมพืชที่อยู่คู่กับวิถีชีวิตตั้งเดิมของภาคใต้ และกัญชาขออนุญาตวิจัยทางการแพทย์ได้เช่นกัน แต่ทั้งหมดยังไม่อนุญาตให้มีการเสพจึงไม่สามารถทดลองในคนได้.-สำนักข่าวไทย