กรุงเทพฯ 15 พ.ค. – ประกาศใช้แล้ว เก็บภาษีกำไรเงินดิจิทัล 15 % พร้อมเสนอ ครม.เก็บภาษีนิติบุคคล 15 % พ่วง VAT สกัดรายย่อยถูกหลอกและฟอกเงิน
นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังจากพระราชกำหนด หรือ พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 มีผลบังคับใช้ในวันที่ 14 พ.ศ.2561 ว่า พ.ร.ก ดังกล่าวเพื่อกำกับดูแล มิให้มีการนำสินทรัพย์ดิจิทัลไปหลอกลวงประชาชนหรือเป็นแหล่งฟอกเงิน ซึ่งกรมสรรพากรได้แก้ไขเพิ่มเติม ประมวลรัษฎากร ฉบับที่ 19 พ.ศ. 2561 ให้มีผลบังคับใช้แล้วเพื่อเก็บภาษีจากสินทรัพย์ดิจิทัลด้วย
นายสาโรช ทองประคำ ผู้อำนวยการกองกฎหมาย กรมสรรพากร กล่าวว่า การจัดเก็บภาษีสินทรัพย์ดิจิทัล ได้มีการกำหนดให้รายได้ที่ได้จากกำไรหรือผลประโยชน์ที่ได้จากการถือครองและผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนเงินคริปโตเคอร์เรนซี หรือโทเคนดิจิทัล ซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินลงทุน หรือกำไร ต้องเสียภาษีกำไรหัก ณ ที่จ่ายในอัตรา 15% ของเงินได้ และนักลงทุนต้องนำรายได้มาคำนวณการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ณ สิ้นปีด้วย
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการบรรเทาภาระให้กับนักลงทุนรายย่อย ที่เป็นบุคคลธรรมดาที่ซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซี่และโทเคนดิจิทัลผ่านศูนย์ซื้อขายที่ได้รับอนุญาต กระทรวงการคลังจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. พิจารณาให้มีการยกเว้นการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT ในการซื้อขายดังกล่าว
ส่วนการกำหนดภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย สำหรับบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น อยู่ระหว่างเสนอแก้กฎกระทรวงต่อครม. เบื้องต้นจะเสนอให้ครม.พิจารณาเก็บภาษีกำไรจากการซื้อขาย 15% เช่นเดียวกับบุคคลธรรมดา โดยนิติบุคคลต้องนำรายได้มาคำนวณการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ณ สิ้นปี รวมทั้งต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 7%
นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ( ก.ล.ต.) กล่าวว่า ผู้ที่จะประกอบธุรกิจ เป็นศูนย์ซื้อขาย นายหน้า และผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล ( ICO Portal ) จะต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเท่านั้น ซึ่งผู้ที่ประกอบกิจการดังกล่าวอยู่แล้ว ยังสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปอีก 90 วัน หรือถึงวันที่ 14 ส.ค.นี้ แต่ระหว่างนี้ต้องทำเรื่องขออนุญาตประกอบธุรกิจอีกครั้ง
ทั้งนี้ ก.ล.ต.เตรียมจะกำหนดหลักเกณฑ์คุณสมบัติของนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซี่และโทเคนดิจิทัล โดยจะต้องเป็นนักลงทุนเฉพาะ เช่น นักลงทุนสถาบัน นักลงทุนที่มีสินทรัพย์มาก เศรษฐี คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายนนี้ ก่อนประกาศใช้อย่างเป็นทางการต่อไป
“เราต้องการคุ้มครองผู้ลงทุนไม่ให้ถูกหลอกลวงจากผู้ไม่สุจริตป้องกันการฟอกเงินและการนำสินทรัพย์ดิจิทัลไปใช้ทำธุรกรรมที่ผิดกฎหมาย ส่วนที่มองว่าการออกพ.ร.ก. ดังกล่าวเป็นการไม่สนับสนุน การระดมทุนของสตาร์ทอัพ และอาจทำให้สตาร์ทอัพ-เอกชนไทยหันไประดมทุนออกไอซีโอในต่างประเทศมากขึ้น เป็นสิทธิ์ที่เอกชนจะตัดสินใจ แต่พ.ร.ก. ฉบับนี้จะคุ้มครองในประเทศเป็นหลัก” นายรพีกล่าว.- สำนักข่าวไทย