กรมการแพทย์ 10 พ.ค.-แพทย์แนะแนวทางรักษาและป้องกันโรคอ้วนลงพุง ด้วยสูตร ผัก:แป้ง:โปรตีน หรือ 2:1:1 ห่างไกลจากโรคร้าย ส่งผลให้สุขภาพแข็งแรง
นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า การรับประทานอาหารเกินความต้องการของร่างกาย ทำให้เกิดภาวะที่มีไขมันสะสมในช่องท้องหรืออวัยวะภายในช่องท้องมากเกินควร ส่งผลให้พุงยื่นออกมาอย่างชัดเจน เรียกว่า โรคอ้วนลงพุง ซึ่งผลแทรกซ้อนของโรคดังกล่าวอาจทำให้เกิดโรคร้ายต่างๆ มากมาย อาทิ โรคหลอดเลือดแดงแข็ง โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง ไตวาย มะเร็ง โรคหลอดเลือดหัวใจ ภาวะหัวใจล้มเหลว เป็นต้น
ทั้งนี้ ผู้ที่เข้าเกณฑ์เสี่ยงโรคอ้วนลงพุงจะมีลักษณะต่างๆ อย่างน้อย 3 ข้อ ดังนี้ คือ 1. ภาวะอ้วนลงพุง 2. ความดันโลหิตสูง 130/85 มม.ปรอทขึ้นไป 3. น้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารสูงกว่า 100 มิลลิกรัม/ต่อเดซิลิตรขึ้นไป 4. ไขมันไตรกลีเซอไรด์สูงกว่า 150 มิลลิกรัม/เดซิลิตร 5. มีไขมันดี ชนิด HDL ต่ำ โดยเพศชายน้อยกว่า 40 มิลลิกรัม/เดซิลิตร และเพศหญิงน้อยกว่า 50 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หากพบว่าร่างกายมีลักษณะดังกล่าว ต้องรีบหาแนวทางการรักษาและป้องกันโรคอ้วนลงพุง เพื่อห่างไกลโรคร้ายแทรกซ้อนที่จะตามมาอย่างทันท่วงที
พญ.วิพรรณ สังคหะพงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กล่าวว่า การรักษาและการป้องกันโรคอ้วนลงพุง สามารถทำได้ด้วยการลดน้ำหนัก โดยออกกำลังกาย ครั้งละ 30 นาที จำนวน 5 ครั้ง/สัปดาห์ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารไม่ให้มีปริมาณมากเกินไป ควรลดหวาน มัน เค็ม จำกัดปริมาณอาหารตามสัดส่วนแบบง่ายๆ คือ รับประทานผัก:แป้ง:โปรตีน หรือ 2:1:1 นอกจากนี้ ควรมีเทคนิคในการเลือกรับประทานอาหาร คือ ลดปริมาณข้าวให้น้อยกว่าปกติ หลีกเลี่ยงอาหารประเภททอด มัน กะทิ เลือกเนื้อสัตว์ที่มีไขมันต่ำ เช่น ปลา หมูไม่ติดมัน ไก่ไม่ติดหนัง เต้าหู้ ไข่ต้ม เพิ่มปริมาณผัก ดื่มน้ำเปล่า หลีกเลี่ยงน้ำหวานและน้ำอัดลม หากสามารถปฏิบัติตนตามคำแนะนำต่างๆ เหล่านี้ได้อย่างถูกต้อง สม่ำเสมอ จะทำให้ร่างกายสามารถฟื้นฟูจากโรคที่เป็นอยู่ หลีกหนีโรคอ้วนลงพุง ส่งผลให้มีสุขภาพแข็งแรงอีกด้วย.-สำนักข่าวไทย