สธ 7พ ค .-สธ.ร่วมกับภาคีเครือข่าย เปิดความสำเร็จโครงการวิจัยยาต้านไวรัส รักษาโรคไวรัสตับอักเสบ ซี มีประสิทธิภาพสูง จะส่งผลต่อการเข้าถึงยา Ravidasvir ในราคาถูกพิเศษ ขณะนี้อยู่ระหว่างวิจัยเพิ่มเติม คาดจะสามารถนำมาใช้จริงในเร็วๆนี้
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย ศ.นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ รักษาการรองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พญ.อิซาเบล ออนดิเยอ-เมแยร์ หัวหน้าโครงการวิจัยทางคลินิกด้านเอชไอวีและไวรัสตับอักเสบ ซี องค์กรเพื่อการริเริ่มจัดหายาสำหรับโรคที่ถูกละเลย (Drugs for Neglected Diseases initiative, DNDi) รศ.พญ.อัญชลี อวิหิงสานนท์ ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย (HIV-NAT) และนายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ร่วมแถลงข่าว “ความสำเร็จโครงการวิจัยยาต้านไวรัส Sofosbuvir+Ravidasvir สำหรับรักษาโรคไวรัสตับอักเสบ ซี”
อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคไวรัสตับอักเสบ ซี เป็นสาเหตุสำคัญของโรคตับอักเสบเรื้อรัง ตับแข็ง และมะเร็งตับ ติดต่อทางเลือดและทางเพศสัมพันธ์ จากข้อมูลองค์การอนามัยโลก คาดประมาณผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี เรื้อรัง ประมาณ 71 ล้านคนทั่วโลก ในประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อฯ ประมาณ 300,000–700,000 ราย เชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี จำแนกเป็น 6 สายพันธุ์ ในประเทศไทยมักตรวจพบสายพันธุ์ที่ 3, 1 และ 6 ตามลำดับ โรคไวรัสตับอักเสบ ซี สามารถรักษาให้หายขาดหากตรวจพบได้เร็ว ซึ่งประเทศไทยได้ดำเนินการป้องกัน ควบคุมและดูแลรักษาโรคนี้มาตั้งแต่ปี 2556 โดยรัฐบาลไทยได้สนับสนุนงบประมาณในการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบ ซี ปีละ 300-400 ล้านบาท เพื่อจัดหายา Pegylated Interferon และ Ribavirin รักษาผู้ป่วยได้ประมาณปีละ 3,000 ราย แต่ยาดังกล่าวมีประสิทธิผลในการรักษาเพียงร้อยละ 60-80 ใช้เวลาในการรักษานาน และมีผลข้างเคียงสูง
ต่อมาได้มียาต้านไวรัสตับอักเสบ ซี กลุ่มใหม่ Direct Acting Antivirals (DAAs) ที่มีประสิทธิภาพในการรักษาให้หายขาดสูงมากกว่าร้อยละ 90 ใช้ระยะเวลารักษาสั้นลง และผลข้างเคียงจากยาต่ำ แต่ยาดังกล่าวมีราคาแพง โดยเฉลี่ยต่อการรักษาผู้ป่วย 1 ราย คิดเป็นเงิน 16,800-48,720 บาท
กรมควบคุมโรค จึงร่วมกับ สวทช. และ DNDi ศึกษาวิจัยยาคู่ใหม่ ได้แก่ Sofosbuvir+Ravidasvir เพื่อประเมินประสิทธิผล และความปลอดภัย ในผู้ป่วยผู้ใหญ่ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี เรื้อรัง ในโรงพยาบาล 4 แห่ง คือ รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ รพ.จุฬาลงกรณ์ รพ.นครพิงค์ และสถาบันบำราศนราดูร ผลการศึกษาวิจัยนับว่าเป็นที่น่าพอใจ ถือเป็นความสำเร็จในการพัฒนายาต้านไวรัสตับอักเสบ ซี ที่สำคัญประโยชน์ที่ไทยได้จากการเข้าร่วมคือข้อตกลงในการเข้าถึงยา Ravidasvir ในราคาถูกพิเศษ ไม่เกิน 10,000 บาทต่อการรักษา 1 ราย เพิ่มโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงยาที่มีประสิทธิภาพสูงในราคาที่เหมาะสม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการวิจัยเพิ่มเติม และจะนำยาดังกล่าวมาใช้จริงในระยะต่อไป
ด้าน รักษาการรองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องพัฒนางานวิจัยเพื่อสร้างความสามารถในการพัฒนายาและวัคซีน นําไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตยาและวัคซีนของประเทศ เพื่อการพึ่งพาตนเอง และสร้างองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับโรคติดเชื้ออุบัติใหม่และอุบัติซ้ำ เพื่อใช้ในการป้องกัน ควบคุม และรักษาโรคได้อย่างทันท่วงที ซึ่ง สวทช. มองเห็นประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับ คือผู้ป่วยได้ใช้ยาดีในราคาที่เข้าถึงได้ ซึ่งจะนำไปสู่การควบคุมหรือกำจัดโรคไวรัสตับอักเสบ ซี ให้หมดไป จึงได้สนับสนุนงบประมาณ 9.9 ล้านบาท ในการดำเนินการทดสอบยาระยะแรกในผู้ป่วยไทยที่ยังไม่มีอาการตับแข็ง จำนวน 81 ราย
ขณะที่ หัวหน้าโครงการวิจัยทางคลินิกด้านเอชไอวีและไวรัสตับอักเสบ ซี จาก DNDi กล่าวว่า ในปี 2559-2560 DNDi ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขประเทศไทยและมาเลเซีย ศึกษาวิจัยทางคลินิกระยะที่ II/III ในรพ.10 แห่ง เพื่อประเมินประสิทธิผล ความปลอดภัย ความทนต่อยาและเภสัชจลนศาสตร์ ของยา Sofosbuvir เมื่อใช้ร่วมกับยา Ravidasvir ในผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบ ซี เรื้อรัง เป็นเวลา 12 สัปดาห์ ในผู้ป่วยที่ไม่มีภาวะตับแข็งและเวลา24 สัปดาห์ ในผู้ป่วยโรคตับแข็งระยะต้นตามมาตรฐานสากลที่กำหนดไว้ หลังจากครบกำหนดการรักษา พบว่าร้อยละ 97 ของอาสา สมัครในโครงการวิจัยฯ มีอัตราการรักษาหายขาดสูงมาก แม้ในผู้ป่วยที่ยากต่อการรักษา
จำแนกประสิทธิผลได้ดังนี้ ผู้ป่วยที่มีภาวะตับแข็ง ร้อยละ 96 ผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วย ร้อยละ 97 ผู้ป่วยที่เคยได้รับการรักษามาก่อน ร้อยละ 96 ถือได้ว่าเป็นสูตรยารักษาโรคไวรัสตับอักเสบซี เรื้อรัง ที่มีประสิทธิผลดี และมีราคาไม่แพง ซึ่งจะเป็นการเปลี่ยนแปลงการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบ ซี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลาง ที่ค่ารักษาโรคไวรัสตับอักเสบ ซี ยังคงมีราคาแพงอยู่ และในอนาคตได้วางแผนขยายการศึกษาประสิทธิผลและความปลอดภัยของยาสูตรดังกล่าวเพิ่มเติม เพื่อสนับสนุนผลการวิจัยในช่วงแรก
สำหรับผู้แทน HIV-NAT กล่าวเสริมว่า โครงการวิจัยครั้งนี้มีอาสาสมัครที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี เรื้อรังทั้งสิ้น 301 ราย เป็นคนไทยจำนวน 81 ราย จากการศึกษาพบว่ายาคู่ใหม่สามารถรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อสายพันธุ์ที่ 1 ได้ถึงร้อยละ 99-100 เมื่อเปรียบเทียบกับยาสูตรเดิมที่ใช้ Interferon มีโอกาสรักษาหายเพียงแค่ร้อยละ 50 และผู้ป่วยที่ติดเชื้อสายพันธุ์ที่ 3 สามารถรักษาให้หายขาดได้ถึงร้อยละ 97 นอกจากนี้ยาสูตรใหม่ยังมีผลข้างเคียงค่อนข้างน้อย เกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ร้ายแรงเพียงร้อยละ 8 และจะเป็นโอกาสดีที่จะมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป
และผู้แทนมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า แม้ว่าประเทศไทยจะปรับมาตรฐานรักษามาใช้ยา Sofosbuvir ร่วมกับยา Pegylated Interferon และยารวมเม็ด Sofosbuvir+Ledipasvir ในระบบหลักประกันสุขภาพแล้วก็ตาม ยังมีความจำเป็นต้องมียาชื่อสามัญในยาชนิดเดียวกันที่มีคุณภาพมาจดทะเบียนและแข่งขันในประเทศให้มากขึ้น
ขณะเดียวกันก็จำเป็นต้องมียาตัวเลือกชนิดอื่นๆ เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งนอกจาก เพื่อเพิ่มการแข่งขันและทำให้ราคายาลดลงไปอีก ยังเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาให้ดียิ่งขึ้น ประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น หมายความว่า เป็นยาที่รักษาโรคนี้ได้หายขาดไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ใดและกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวีร่วมหรือมีผังผืดที่ตับมากแล้ว ใช้ระยะเวลาการรักษาสั้นลงไม่ถึง 12 สัปดาห์ ไม่มีผลข้างเคียงรุนแรง ไม่มีปฏิกิริยากับยาอื่นที่ใช้ร่วม ลดค่าใช้จ่ายในการตรวจที่ไม่จำเป็น และที่สำคัญที่สุดคือราคายาต้องไม่แพง ซึ่งโครงการที่กำลังวิจัยดังกล่าวจะเป็นประโยชน์กับประชาชนอย่างมาก เพื่อขจัดปัญหาโรคไวรัสตับอักเสบ ซี ให้หมดไปจากประเทศไทย.-สำนักข่าวไทย