นนทบุรี 22 เม.ย. – สมาชิกอาเซียนพร้อมเร่งปรับปรุงระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ (e-Form D) ทางออนไลน์ระหว่างกันให้ถูกต้อง เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าให้กับผู้ประกอบการมากขึ้น
นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะทำงานเพื่อติดตามการปฏิบัติงานด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าของไทย เปิดเผยว่า ได้มอบให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นเลขานุการคณะทำงานฯ จัดการหารือร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียนที่เริ่มใช้ระบบการแลกเปลี่ยนหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Form D) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาทางเทคนิคและเป็นอุปสรรคต่อการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน ซึ่งกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมร่วมกันเป็นครั้งแรกระหว่างคณะอนุกรรมการความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียนด้านกฎถิ่นกำเนิดสินค้ากับคณะทำงานด้านเทคนิคของอาเซียน ซึ่งดูแลเรื่องการเชื่อมโยงข้อมูลผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียน เมื่อวันที่ 29-30 มีนาคม 2561
นางนันทวัลย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาทางเทคนิคที่พบ คือ ระบบการแลกเปลี่ยน e-Form D ยังไม่เสถียรและต้องปรับปรุงระบบให้สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์ ซึ่งปัญหาการใช้งานส่วนหนึ่งเกิดจากการวางเงื่อนไขระบบที่ไม่สอดคล้องกับกฎข้อบังคับตามระเบียบการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (OCP) ภายใต้ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ATIGA) ทำให้เกิดปัญหาในการขอใช้สิทธิทางภาษี ทั้งนี้ พบว่ามีสมาชิกอาเซียนบางรายไม่ได้พัฒนาระบบการแลกเปลี่ยน e-Form D ตามเงื่อนไขที่ได้ทำการทดสอบและตกลงร่วมกัน ซึ่งที่ประชุมตกลงจะเร่งแก้ไขและประเมินผลการใช้งาน e-Form D อีกครั้ง เดือนมิถุนายน 2561 โดยระหว่างนี้จะใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดแบบกระดาษควบคู่กับ e-Form D นอกจากนี้ อาเซียนยังมีแผนพัฒนาระบบเพื่ออำนวยความสะดวกมากขึ้น เช่น การแก้ปัญหาความไม่สะดวกและล่าช้าในการแก้ไขหรือยกเลิก e-Form D โดยจะปรับปรุงระบบให้สามารถแก้ไขหรือยกเลิก e-Form D ได้ในระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะติดตามผลและผลักดันให้มีความคืบหน้าในการประชุมคณะทำงานระดับสูงว่าด้วยการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียน (High Level Task Force on ASEAN Economic Integration : HLTF – EI) ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนมิถุนายนนี้
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญกับการใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเป็นเครื่องมือในการอำนวยความสะดวกทางการค้าและลดต้นทุนการทำธุรกรรมให้แก่ผู้ประกอบการตามนโยบายรัฐบาล โดยที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมศุลกากร และกรมการค้าต่างประเทศ ได้ดำเนินการเกี่ยวกับ e-Form D ในส่วนของไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“กระทรวงพาณิชย์มีนโยบายส่งเสริมการใช้หนังสือรับรองอิเล็กทรอนิกส์รวมอยู่ในความตกลงการค้าเสรี ที่อยู่ในการเจรจาหรือที่มีการทบทวน นอกจากนี้ ในฐานะประธานคณะทำงานเพื่อติดตามการปฏิบัติด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า จะผลักดันให้ไทยปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้ความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกทางการค้าภายใต้ WTO (Agreement on Trade Facilitation หรือ TFA) เพื่อสร้างความโปร่งใส ลดอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี และทำให้กระบวนการของประเทศไทยในการนำเข้า-ส่งออก และการผ่านแดนของสินค้ามีความเรียบง่าย ซึ่งจะช่วยยกระดับสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจของไทย ให้เอื้ออำนวยต่อการค้าและการลงทุนยิ่งขึ้น” นางนันทวัลย์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย