นนทบุรี 30 มี.ค. – กระทรวงพาณิชย์จัดงานเชื่อมต่อการค้าพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก : Global to Local Link พัฒนาธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์เข้าสู่ระบบมาตรฐาน ISO 9001 สร้างความน่าเชื่อถือให้ธุรกิจ แนะผู้ประกอบธุรกิจสำรวจธุรกิจตนเอง ติดตามเส้นทางการค้าให้ดี สร้างซัพพลายเชนให้เหนียวแน่น
นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ กล่าวภายหลังเปิดงาน “เชื่อมต่อการค้าพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก : Global to Local Link” ภายใต้โครงการเพิ่มศักยภาพธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ไทย จัดโดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ว่า กระทรวงพาณิชย์มีนโยบายสนันสนุนผู้ให้บริการโลจิสติกส์รายย่อยของไทย ทั้งด้านบริการขนส่งและขนถ่ายสินค้า คลังสินค้า บรรจุ หีบห่อเพื่อการขนส่ง บริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการขนส่งและบริการโลจิสติกส์แบบครบวงจร สามารถรับมือกับสถานการณ์การค้าที่เปลี่ยนแปลงไป โดยนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาช่วยบริหารจัดการรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจยุคดิจิทัล พร้อมกับสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อสร้างช่องทางการขายผลิตภัณฑ์ชุมชนและสินค้าจากท้องถิ่นให้กระจายไปสู่ภูมิภาคอื่น ๆ ได้ ผ่านร้านค้าชุมชนหรือร้านธงฟ้าประชารัฐที่เป็นจุดรับส่งสินค้า โดยมีระบบโลจิสติกส์เป็นพื้นฐานของธุรกิจทุกประเภททำหน้าที่เคลื่อนย้ายสินค้าจากผู้ผลิตสู่ร้านค้าให้ไปถึงยังมือผู้บริโภคโดยตรง ดังนั้น การพัฒนาธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ให้มีคุณภาพตรงตามมาตรฐาน ISO จะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาธุรกิจอื่น ๆ ทางอ้อมอีกด้วย
ทั้งนี้ ธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ปัจจุบันมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยอย่างมาก ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจและเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันกับต่างประเทศ สำหรับงาน Global to Local Link ดังนั้น การจัดงานนี้จะช่วยยกระดับธุรกิจให้เตรียมตัวเข้าสู่การรับรองคุณภาพตามมาตรฐาน ISO 9001 เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผู้ใช้บริการ ประหยัดต้นทุนในการบริหารจัดการ เพิ่มผลกำไรให้กับธุรกิจ โดยที่ผ่านมามีผู้สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการนี้กว่า 200 ราย หลังจากนี้กรมฯ จะประเมินธุรกิจที่มีความพร้อมในการพัฒนาระบบบริหารจัดการธุรกิจ เมื่อธุรกิจผ่านการประเมินตามเกณฑ์แล้วจะได้รับใบรับรองมาตรฐาน ISO 9001 หรือรางวัล D-Log Award พร้อมกับคัดเลือกธุรกิจที่เป็น TOP 10 เพื่อเป็นต้นแบบให้กับธุรกิจอื่น ๆ ต่อไป ทั้งนี้ ภายในงานยังมีการออกบูธจากธุรกิจโลจิสติกส์ชั้นนำที่มาร่วมให้คำปรึกษาทางธุรกิจและการใช้นวัตกรรมเพื่อบริหารจัดการธุรกิจ จึงขอเชิญชวนให้ผู้ประกอบธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ต้องตื่นตัวและแสวงความความรู้
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการต้องพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง และศึกษาเส้นทางการค้าใหม่ ๆ เพื่อหาช่องทางในการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ อาทิ เส้นทางสายไหม หรือ One Belt One Road : OBOR เป็นเส้นทางโลจิสติกส์ขนาดใหญ่ที่จะเชื่อมโยง 64 ประเทศทั่วโลกเข้าไว้ด้วยกัน จะเกิดโอกาสและการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญให้กับโลจิสติกส์ไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าไปยังภูมิภาคอาเซียนและประเทศอื่น ๆ และโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor: EEC เป็นการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษชายฝั่งทะเลและชายแดนไทย สร้างการค้าในรูปแบบ Local to Global ซึ่งจะต้องพึ่งพาระบบการขนส่งที่มีประสิทธิภาพเพื่อกระจายสินค้าไปยังที่ต่างๆ จึงทำให้ธุรกิจนี้เป็นที่จับตามองและเป็นส่วนพื้นฐานในการต่อยอดความเจริญเติบโตของเศรษฐกิจในอนาคต นอกจากนี้ ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องสร้างโอกาสทางการตลาดและเชื่อมโยงซัพพลายเชน เพื่อเสริมประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้วยเทคโนโลยี สร้างพันธมิตรทางธุรกิจ และลดต้นทุน โดยเฉพาะในช่วงที่ธุรกิจ e-Commerce กำลังเป็นยุคทอง ระบบ e-Logistic จึงเข้ามามีส่วนในการบริหารธุรกิจ เกิดความสะดวกสบายในการจัดการระบบขนส่ง ผู้บริโภคสามารถติดตามสถานะการจัดส่งได้ มีความน่าเชื่อถือ มากไปกว่านั้นยังช่วยกระจายสินค้าจากท้องถิ่นไปสู่ชุมชน ซึ่งจะเกิดการหมุนเวียนเศรษฐกิจในฐานรากให้มีความมั่นคงสอดรับกับนโยบายรัฐบาลเป็นสำคัญ.-สำนักข่าวไทย