ป.ป.ช. 14 มี.ค.-ประธาน ป.ป.ช. มั่นใจกฎหมายลูกใหม่ จะทำให้การปราบทุจริตมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะมีระเบียบวิธีไต่สวนใหม่ และกรอบระยะเวลาในการทำงานชัดเจน
พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าการยกเว้นคุณสมบัติต้องห้ามของกรรมการ ป.ป.ช.ในร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. … ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญปี 2560 ว่า แม้จะมีผู้แย้งมติศาลรัฐธรรมนูญ แต่เชื่อว่าจะไม่มีปัญหาเกิดขึ้น เพราะบ้านเมืองใช้กฎหมายเป็นหลัก เมื่อรัฐธรรมนูญเขียนไว้อย่างไร จะต้องเป็นไปตามนั้น
พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม เมื่อมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว จะทำให้งานของ ป.ป.ช.เดินหน้าไปได้อย่างราบรื่นมากขึ้น จะมีการปรับการทำงาน โดยพยายามแก้ไขปัญหาที่สั่งสมมานาน เพราะใน 1 ปี 3 เดือนมานี้ งานของ ป.ป.ช.ชะลอมานาน เนื่องจากต้องรอกฎหมายฉบับใหม่ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ในระหว่างนี้ ป.ป.ช.ได้เตรียมทำอนุบัญญัติประมาณ 40 อนุบัญญัติเพื่อบังคับใช้ในวันที่กฎหมาย ป.ป.ช.มีผลบังคับใช้ พร้อมกับปรับโครงสร้างให้ทันวันที่ 1 ตุลาคม 2561 หลังจากนี้ ป.ป.ช.จะมีระเบียบวิธีไต่สวนใหม่ และกรอบระยะเวลาในการทำงานตามที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้กำหนดไว้ 2 ปี
ส่วนกฎหมายใหม่จะทำให้การป้องกันและปราบปรามการทุจริตดีขึ้นหรือไม่ พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า แน่ใจว่าจะทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะทั้งกรอบระยะเวลาและกระบวนการทำงานจะมีความชัดเจนมากขึ้น นอกจากนี้ ป.ป.ช.ได้วางองคาพยพและปรับย้ายคนที่เหมาะสมกับงานไว้รองรับแล้ว
“การทำงาน เราจะใช้ทั้ง ป.ป.ช.จังหวัด ภาค ส่วนกลาง จะปรับภารกิจให้ตรงตามเป้าหมาย และในวันที่ 26 มีนาคมนี้ จะเชิญผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.จังหวัด มาชี้แจงผลการปฏิบัติงานในรอบ 6 เดือน พร้อมเสนอและวิเคราะห์ อย่างไรก็ตาม ผมได้บอกกับเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ไปว่าคงต้องเหนื่อยไปอีก 2-3 ปี เพื่อทำให้องค์กรมีความกระฉับกระเฉงมากขึ้น” พล.ต.อ.วัชรพล กล่าว
สำหรับการเตรียมรับมือกรณีเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.หลายคนลาออก เพราะกดดันที่ต้องทำคดีให้ทันตามกรอบเวลานั้น พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า เป็นธรรมดาที่คนเราอยากสบาย แต่เท่าที่รับฟัง ทุกคนต่างมีความมุ่งมั่น แต่วันนี้การทำงานของ ป.ป.ช.มีความเปลี่ยนแปลงจากที่ผ่านมา กรรมการ ป.ป.ช.ทำงานหนักมาก เพิ่มวันประชุมจาก 2 เป็น 3 วัน เดินทางลงพื้นที่เพื่อกลั่นกรองเรื่องต่าง ๆ ให้เร็วขึ้น เชื่อว่าเจ้าหน้าที่อยากเห็นองค์กรมีความกระฉับกระเฉง เป็นที่ยอมรับของประชาชน ดังนั้นจึงถึงเวลาที่เราต้องทุ่มเททำงานด้วยความผิดชอบ ไม่ใช่เข้ามาเพื่อมีอำนาจบารมี
ด้านนายวิทยา อาคมพิทักษ์ กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า เมื่อได้ทราบผลดังกล่าว ตนรู้สึกเบาใจ และจากนี้ต้องตั้งใจทำงานหนักมากขึ้น จะได้ไม่ต้องมานั่งกังวล ทั้งนี้เมื่อศาลรัฐธรรมนูญตีความชัดเจนแล้วจะได้ไม่ต้องมีความขัดข้องใจกันอีกว่ากรรมการ ป.ป.ช.ทำงานไปโดยไม่มีอำนาจ หรือไม่มีคุณสมบัติ เมื่อศาลตีความแล้ว ถือว่าจบ เพราะคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นข้อผูกพันทุกองค์กร จะได้ไม่มีประเด็นตามมา ทำงานไม่ต้องกังวลจะถูกฟ้องภายหลัง
ส่วนที่มีเสียงวิจารณ์ว่าการวินิจฉัยดังกล่าวทำให้เกิดประเด็นการพิทักษ์รัฐธรรมนูญเกิดขึ้น นายวิทยา กล่าวว่า เชื่อว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาข้อกฎหมายอย่างรอบคอบแล้ว และเป็นมติเอกฉันท์
ขณะเดียวกันมีเสียงสะท้อนว่าเรื่องดังกล่าวอาจนำไปสู่วิกฤติรัฐธรรมนูญได้ นายวิทยา กล่าวว่า ส่วนตัวไม่คิดว่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะเป็นการพิจารณาข้อกฎหมายที่เป็นที่สิ้นสุดแล้ว ถือว่าเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ.-สำนักข่าวไทย