กรุงเทพฯ 18 ก.พ. – รัฐสนับสนุนให้ชุมชนจัดตั้งแบงค์ขนาดเล็ก ในทุกตำบลทั่วไทย ตำบลละ 1-2 แห่ง บริหารโดยคนในชุมชน ทำงานควบคู่กับกองทุนหมู่บ้าน ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ ร่างพ.ร.บ.สถาบันการเงินประชาชน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา วันนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการจับมือกันระหว่างรัฐบาลและพี่น้องประชาชนทั้งประเทศ โดยมีธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นพี่เลี้ยง ช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับองค์กรการเงินชุมชนที่จะเข้าเครือข่าย ทั้งในด้านการพัฒนาระบบฝาก ถอน โอน ชำระเงิน รวมถึงระบบการจัดสวัสดิการให้คนในชุมชน
นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า คนมักจะพูดกันเสมอว่า “คนจนออมไม่ได้” หรือ “เงินไม่พอใช้ในแต่ละวัน แล้วจะให้มาออมเพื่ออนาคตได้อย่างไร ” แต่ในขณะนี้ ชุมชนทั่วไทยจำนวนมาก กำลังพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่าใคร ๆ ก็ออมได้ จากการออมเงินเล็ก ๆ วันละ 1 บาทต่อคน แต่ด้วยสมาชิกตำบลละ 2,000-3,000 คน กลายมาเป็นเงินออมของชุมชนนับล้านบาทในแต่ละปี บางชุมชน ช่วยกันเก็บเล็กผสมน้อยกันมา 10 ปี สามารถออมได้ 10 ล้าน 20 ล้าน 50 ล้าน แม้กระทั่ง 100 ล้านบาท
“มีตัวอย่างจากกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์เพื่อพัฒนาคุณธรรมครบวงจรชีวิต จ.ตราด ของท่านพระอาจารย์สุบิน ปณีโต ที่พบว่ากลุ่มของท่านมีเงินออมรวมกันถึง 2,700 ล้านบาท ซึ่งเงินเหล่านี้ ได้ช่วยประชาชนในชุมชน ใช้เป็นแหล่งทุนสร้างอาชีพ ช่วยปลดหนี้นอกระบบ รักษาที่ดินที่กำลังจะหลุดมือ ตลอดจนเอากำไรมาจัดเป็นสวัสดิการให้กับชุมชน และเป็นทุนในการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชน เพื่อให้บริการน้ำประปาชุมชน ปุ๋ยอินทรีย์ชุมชน ร้านค้าชุมชน ตลาดชุมชน เป็นต้น” นายกอบศักดิ์ กล่าว
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตัวอย่างเหล่านี้คือแรงบันดาลใจของรัฐบาล ในการขับเคลื่อนร่างพ.ร.บ.สถาบันการเงินประชาชน เพื่อสนับสนุนให้พี่น้องประชาชนสามารถจัดตั้งแบงค์เล็กๆ ในชุมชนของตนเองอย่างถูกต้องตามกฏหมาย ในทุกตำบลทั่วไทย ตำบลละ 1-2 แห่ง ซึ่งเมื่อตั้งแล้วจะเป็นของชุมชน บริหารโดยคนในชุมชน ทำเพื่อชุมชนของตนเอง
นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า รัฐจะส่งเสริมสถาบันการเงินเล็ก ๆ เหล่านี้ อย่างเต็มที่ในด้านต่าง ๆ ทั้งในระบบการทำบัญชี บันทึกการฝากเงิน การกู้เงิน โอนเงิน การออมเพื่อชราภาพ ระบบสวัสดิการชุมชน แต่ที่สำคัญที่สุด รัฐจะรักษาให้ทุกชุมชนมีความเป็นอิสระในการบริหารจัดการตามความต้องการของสมาชิก ให้สอดคล้องกับสภาพ ตามอัตลักษณ์ของแต่ละชุมชน โดยแต่ละชุมชน จะสามารถกำหนดหลักเกณฑ์การฝาก การกู้ การให้สวัสดิการของตน เนื่องจากเงินเหล่านี้ เป็นเงินของพี่น้องประชาชนที่เก็บออมกันมาเอง โดยสถาบันการเงินเล็ก ๆ ระดับตำบลเหล่านี้ จะทำงานควบคู่กับกองทุนหมู่บ้านที่มีอยู่แล้วประมาณ 8 หมื่นแห่ง ที่จะช่วยกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของไทยไปข้างหน้า โดยชุมชนที่สนใจเข้าร่วม สามารถเริ่มจากการตั้งกลุ่มออมทรัพย์ขึ้นใหม่ หรือยกระดับจากกลุ่มออมทรัพย์ที่มีอยู่เดิม โดยเน้นความสมัครใจ ไม่มีการบังคับ
“พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะเป็นผลงานสำคัญของรัฐบาล ที่นำไปสู่การพัฒนาแบบ ระเบิดจากภายใน ตามดำริของล้นเกล้า ร. 9 ที่จะเป็นการพัฒนาตามลำดับขั้น ทำให้เศรษฐกิจฐานรากมีความเข้มแข็ง และประเทศบรรลุถึงการพัฒนาที่สมดุลยั่งยืนในที่สุด” นายกอบศักดิ์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย